เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายวรวิทย์ อัคราภิชาต แกนนำกลุ่มภาคกลาง ผู้แทนลูกจ้างในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่พวกตนได้รอพบ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่ได้พบ จึงได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมายื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ต่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ตัวแทนนายกรัฐมนตรี มารับหนังสือ และรับปากว่าจะนำเรียนความเดือดร้อนให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยด่วนและจะเร่งประสานมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบปัญหาเบื้องต้นแล้ว และจะตั้งวอร์รูมประชุมร่วมกันกับทางสมาพันธ์ฯ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ เนื่องจากหน่วยงานอื่นทำงานเกิน 5ปีก็ได้สิทธิประโยชน์ แต่ลูกจ้าง สพฐ.ทำงานมา 15 ปี ยังไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไรเลย
นายวรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่สมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้างสังกัด สพฐ. ต้องออกมาเคลื่อนไหว เพราะพวกเราเดือดร้อนจริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องประกันสังคม พวกเราทุกคนทำงานมามีอายุงาน 15 ปีแล้ว ได้รับการสมทบประกันสังคมตั้งแต่ ปี 2552 เพราะพวกเราเข้าโครงการตั้งแต่โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ไทยเข้มแข็ง(SP 2) คืนครูให้นักเรียน อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้ว สพฐ.ได้เชิญผู้แทนและประธานสมาพันธ์ทุกภาคเข้าหารือแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว โดยมีดร.อุดม พรมพันธ์ใจ ผู้แทน รมว.ศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายศุภสิน ภูศรีโสม ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ และนายนิยม ไผ่โสภา ผอ.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วมหารือ
นายวรวิทย์ กล่าวว่า จากการเจรจา ทาง สพฐ. และ ผู้แทน รมว.ศึกษาธิการ ได้ขอให้บอกถึงผลกระทบจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวมาเป็นจ้างเหมาบริการ ซึ่งตนได้ชี้แจงไปหมดแล้ว และสุดท้ายก็มีข้อตกลง 3 ข้อ คือ 1 ให้เอาประกันสังคมกลับคืนมา แล้วเปลี่ยนกลับไปจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวเหมือนเดิมและส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อ 2 ขอปรับเงินเดือนตามนโยบายรัฐบาลจาก 15,000 บาท เป็น 16,500 บาท และ 3 ขอให้ สพฐ.จัดสรรอัตรากำลังในการสอบกรณีพิเศษสำหรับลูกจ้าง สพฐ. เพราะอายุงาน 10 ปี 15 ปี ควรจะมีกรณีพิเศษของการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานราชการ ขอให้มีการสอบแข่งขันกันเองในอัตราละ 5% ต่อปีต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่ง นายอุดม ซึ่งเป็นผู้แทน รมว.ศึกษาธิการ ก็พูดว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อยังไม่เห็นว่า รมว.ศึกษาธิการจะทำข้อไหนให้ไม่ได้เลย แต่ขอเวลาให้ สพฐ.กลั่นกรองข้อมูลให้ครบถ้วนและเสนอ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อของบฯกลาง มาดูแลเรื่องประกันสังคม เรื่องการเลื่อนเงินเดือน เพราะ สพฐ.ทำรายละเอียด ค่าใช้จ่ายไปแล้วว่า ต้องใช้เงินสมทบประกันสังคมประมาณ 400 ล้านบาท สำหรับขึ้นเงินเดือนประมาณ 8,000 ล้านบาท
“ทราบมาว่า ตัวเลขเสนอให้รมว.ศึกษาธิการ ตั้งแต่หลังวันที่ 2 ตุลาคม แล้ว ดังนั้นถ้าอ้างว่าข้อมูลยังไม่เรียบร้อย ก็อยากถามว่า เป็นไปได้หรือ เพราะผ่านมา 3 สัปดาห์ 3 ประชุม ครม.แล้ว และตอนนี้ก็มาอ้างว่า กระทรวงอื่นก็มีลูกจ้างอีก ผมก็มองว่า พวกผมเป็นฝ่ายสนับสนุนการศึกษา สร้างบุคลากรให้เป็นคนเก่ง คนดี แต่ตอนนี้พวกผม 7 หมื่นกว่าคนกำลังเดือดร้อน ไม่ใช่เดือดร้อนเฉพาะตัวแต่ลามไปถึงครอบครัว สิทธิประโยชน์ก็ไม่ได้ ทำไมไม่พิจารณาให้ ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ถ้าเขาเดือดร้อนก็ต้องมาแจ้งความเดือดร้อน และยิ่งผู้แทนรัฐมนตรีพูดว่า ผมเป็นพ่อ ลูกเดือดร้อนจะไม่ดูแลได้อย่างไร และยังพูดด้วยว่า จะนำเรียนรัฐมนตรีโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านเลขาหรือใครทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นคำมั่นที่พวกผมขอขอบคุณที่ดูแล และได้บอกไปว่า จะทวงถามความคืบหน้า แต่ปรากฏว่าหลังจากวันประชุมร่วมกันก็ไม่เคยติดต่อได้เลย แต่พวกผมก็เฝ้าติดตามการประชุม ครม. 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีเรื่องนี้เข้าเลย เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้ไม่ได้คำตอบ ก็จะยกระดับการชุมชน เพราะตอนนี้พี่น้อง 77 จังหวัดรอสัญญาณจากผู้แทนที่มาวันนี้ ถ้ารัฐมนตรีไม่ให้ความสำคัญเราจะแจ้งให้มีการยกระดับการชุมชน และสุดท้าย ขอบอกว่าวันนี้พวกเราเดือดร้อน ถ้าไม่เดือดร้อนเราไม่มา เพราะตอนนี้เตรียมเปิดเทอมแล้ว”นายวรวิทย์กล่าว