เวลา 10.00 น. วันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายวรวิทย์ อัคราภิชาต แกนนำกลุ่มภาคกลาง ผู้แทนลูกจ้างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่เดินทางมายังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอเข้าพบ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน  ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรณีสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งเรื่องการจัดสรรอัตราการปฏิบัติงาน ให้ราชการ ปีงบประมาณ 2568 โดยปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างเป็นจ้างเหมาบริการและตัดเงินสมทบประกันสังคม ส่งผลให้ลูกจ้าง สพฐ. กว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ  ได้รับผลกระทบ ถึงสิทธิประโยชน์ ที่พึงได้รับ  กล่าวว่า ทีมงานของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้ประสานให้ตนได้โทรศัพท์พูดคุยกับ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ในเบื้องต้น โดยได้ขอให้ รมว.ศึกษาธิการ นำปัญหาและข้อเรียกร้องของกลุ่มธุรการเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อของบประมาณมาดูแลเยียวยากลุ่มธุรการที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบ บอกเพียงว่า ได้ทำให้แล้ว ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดี

“ได้ยินคำตอบแบบนั้น ผมในฐานะตัวแทนพวกเราดีใจมาก และอยากให้ยืนยันว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะเสนอเรื่องนี้เข้าครม. แต่ก็ไม่ได้คำตอบกลับมา  ทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เสนอรายละเอียด งบประมาณ อัตรากำลังให้รมว.ศึกษาธิการ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมได้ขอให้ รมว.ศึกษาธิการ โฟนอิน เข้ามาพูดคุยกับพวกเรา แต่ท่านก็ไม่ยอม ดังนั้น เท่ากับว่า ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ว่าจะได้ประกันสังคมคืน และยืนยันว่าจะต้องได้พบกับ รมว.ศึกษาธิการ  เพราะขณะนี้พวกเราได้รับความเดือดร้อนมาก เราทำงานมา 15 ปี ไม่มีหน่วยงานไหนเยียวยา ดูแลสิทธิประโยชน์ ให้เลย “นายวรวิทย์ กล่าว

นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)  กล่าวว่า  สพฐ.ทำหนังสือต่าง ๆ ตามขั้นตอนไปหมดแล้ว แต่ ขอดูรายละเอียดอีก โดยที่ยังไม่นำเสนอคณะรัฐมนตรี  เนื่องจากท่านเห็นว่าลูกจ้างไม่ได้มีแต่กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ยังมีกระทรวงอื่น ๆ อีก และวันนี้ รมว.ศึกษาธิการก็ได้ขอเอกสารและลายเซ็นของลูกจ้างที่มายื่นเรื่องวันนี้ด้วย ไม่ว่าจะเฉพาะตัวแทน แกนนำ หรือจะเอามาทั้งหมดก็ได้ เพราะจะได้เป็นหลักฐานแนบไปเสนอครม.ด้วยว่า เพื่อยืนยันว่าลูกจ้าง สพฐ. มีความเดือดร้อนจริง ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สพฐ.ได้ทำหนังสือหารือไปยัง กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นผู้ออกระเบียบในการจ้างผู้ปฏิบัติงานและจัดสรรเงินงบประมาณ โดยขอหารือใน 4 ประเด็น คือ 1. การจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการดังกล่าวถือเป็นการจ้างลูกจ้างชั่วคราวหรือการจ้างเหมาบริการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และการจ้างเอกชนดำเนินงาน ซึ่งส่วนราชการต้องดำเนินการเป็นไปตามนัยของหนังสือที่อ้างถึง 2. การจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการดังกล่าว สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ในฐานะผู้ว่าจ้างสามารถจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคมได้หรือไม่ 3. หาก สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในฐานะผู้ว่าจ้าง ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม ตามข้อ 2 สพฐ. สามารถขอเงินเพิ่มเพื่อจ่ายเงินในส่วนของผู้ว่าจ้างได้หรือไม่ และ 4.สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในฐานะผู้ว่าจ้าง ต้องจ่ายอัตราค่าแรงขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนให้กับผู้ปฏิบัติงานให้ราชการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ได้เห็นชอบรายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 (เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ) และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2567 ได้หรือไม่ โดยขอให้กรมบัญชีกลางตอบข้อหารือดังกล่าวภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2567  ซึ่งทางกรมบัญชีกลางได้ ตอบกลับมาว่า ต้องดำเนินการตามระเบียบ และให้ สพฐ.ไปบริหารจัดการงบประมาณเอง ทาง สพฐ.จึงได้ทำรายงานเสนอ รมว.ศึกษาธิการแล้ว แต่ รมว.ศึกษาธิการเห็นว่า มีลูกจ้างอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก จะเสนอแค่ของกระทรวงศึกษาธิการ คงไม่ได้ จึงรอดูของหน่วยงานอื่นก่อนว่าได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments