เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ(สลช.)เปิดแถลงข่าว โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในฐานะ ประธานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ “เปิดตัวระบบบริหารกิจการลูกเสือและโปรแกรมการฝึกอบรมลูกเสือในสถานศึกษา(NSOT Service)” ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง โดย พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวว่า การเปิดตัวระบบบริหารกิจการลูกเสือครั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงสถานศึกษา นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับแนวคิด “ลูกเสือทันสมัย Transform” ภายใต้สโลแกน “ทำดี ทำได้ ทำทันที” โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนรู้และลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อการให้บริการและปฏิบัติงาน ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด ทั้งในส่วนกลาง สำนักงานลูกเสือจังหวัด สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา รวมทั้งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือ ที่จะได้รับบริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้จัดทำโปรแกรมฝึกอบรมลูกเสือในสถานศึกษา เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้ลูกเสือสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยนำไปบูรณาการในวิชาหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในสถานศึกษาได้ โดยเบื้องต้นได้ดำเนินการเปิดให้บริการ 4 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบขอจัดตั้งกลุ่มหรือกองลูกเสือ สำหรับสถานศึกษาที่ต้องการจัดตั้งกลุ่มลูกเสือ 2. ระบบขอตำแหน่งทางลูกเสือ สำหรับผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ต้องการตำแหน่งใหม่ 3. ระบบขอมีคุณวุฒิทางลูกเสือ สำหรับการรับรองคุณวุฒิตามระดับต่าง ๆ และ 4. ระบบขอเปิดการฝึกอบรม สำหรับการเปิดอบรมบุคลากรทางลูกเสือในหลักสูตรต่าง ๆ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า โปรแกรมการฝึกอบรมลูกเสือในสถานศึกษาที่ได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและทักษะที่จำเป็นในปัจจุบัน โดยแบ่งตามประเภทของลูกเสือ ดังนี้ ลูกเสือสำรอง : การเป็นผู้นำ, การออม, Codding, มารยาทไทย และการป้องกันภัยต่าง ๆ ลูกเสือสามัญ : E-sport, Codding, ภัยไซเบอร์, และความรักชาติ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ : SMART SCOUT, การกู้ชีพฉุกเฉิน, Save Bullying และภัยคุกคามทางเพศ ลูกเสือวิสามัญ : การเงินดิจิทัล, ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการช่วยเหลือชุมชน และในอนาคตจะมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ลูกเสือได้รับทักษะที่ทันสมัยและนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการออกกฎกระทรวง เรื่องการแต่งกายเครื่องแบบลูกเสือใหม่ โดยจะอนุโลมให้แต่งกายตามบริบทของพื้นที่ด้วย
ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) กล่าวว่า ระบบบริหารกิจการลูกเสือ(NSOT Service) เป็นโปรแกรมออนไลน์ระบบบริหารกิจการลูกเสือ ซึ่งในเบื้องต้นได้ดำเนินการเปิดให้บริการ 4 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบขอจัดตั้งกลุ่มหรือกองลูกเสือ ให้บริการแก่สถานศึกษาที่ประสงค์ขอตั้งกลุ่มหรือกองลูกเสือ 2. ระบบขอมีตำแหน่งทางลูกเสือ ให้บริการแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และบุคลากรทางการลูกเสือที่ประสงค์ ขอมีตำแหน่งทางลูกเสือ ทั้งประเภทผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และประเภทผู้ตรวจการลูกเสือ 3. ระบบขอมีคุณวุฒิทางลูกเสือ ให้บริการแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และบุคลากรทางการลูกเสือที่ประสงค์ ขอมีคุณวุฒิทางการลูกเสือ ตั้งแต่ 2 ท่อน (W.B.) ถึง 4 ท่อน (L.T.) 4. ระบบขอเปิดการฝึกอบรม ให้บริการแก่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือจังหวัด สำนักงาน ลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ที่ประสงค์ขอเปิดการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือในหลักสูตรต่าง เช่น B.T.C. / A.T.C. / A.L.T.C. / L.T.C. / การบันเทิงในกองลูกเสือ ระเบียบแถวลูกเสือ เป็นต้น โดยทั้ง 4 ระบบนี้ จะทำให้ลดระยะเวลา รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและลดขั้นตอนใน การดำเนินงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตอบสนองนโยบายอย่างแท้จริง โดยจะมีการเปิดระบบอย่างเป็นทางการแล้วและจะมีการทดลองใช้เพื่อติดตามระบบประมาณ3เดือน
เลขาธิการ สลช. กล่าวต่อไปว่า ส่วนโปรแกรมการฝึกอบรมของลูกเสือในสถานศึกษา ได้มีการพัฒนาขึ้นเพื่อเสริมทักษะให้แก่ลูกเสือ ซึ่งตอบสนองการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยกระบวนการลูกเสือที่ สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ที่เหมาะสมกับลูกเสือแต่ละประเภท เช่น 1. ลูกเสือสำรอง คือ นักเรียนช่วงชั้น ป.1-3 ฝึกอบรมเรื่อง การเป็นผู้นำ ผู้ตาม, การออม, Codding, การป้องกันภัยจากไฟฟ้า, ภัยจากการจมน้ำ, ภัยจากการติดอยู่ในรถ และมารยาทไทย เป็นต้น 2. ลูกเสือสามัญ คือ นักเรียนชั้น ป.4-6 ฝึกอบรมเรื่อง E-sport, Codding, ภัยจากคนแปลกหน้า, ภัยไซเบอร์ และความรักชาติ เป็นต้น 3. ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ นักเรียนชั้น ม.1-3 ฝึกอบรมเรื่อง SMART scout, การกู้ชีพฉุกเฉิน, Save Bullying, ภัยจากบุหรี่ ไฟฟ้า, ภัยคุกคามทางเพศ, สถาบันหลักของชาติ เป็นต้น และ 4. ลูกเสือวิสามัญ นักเรียน ชั้น ม.4-6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ฝึกอบรมเรื่องการเงินดิจิทัล, การลงทุนดิจิทัล, ภัยจากการยุยง ปลุกปั่น, ภูมิปัญญา ท้องถิ่น, การช่วยเหลือชุมชน เป็นต้น
“จริง ๆ แล้วกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ พ.ศ.2510 ได้พูดถึงชุดลูกเสืออยู่แล้ว และ พ.ร.บ.ลูกเสือ พ.ศ.2551 ก็ได้กำหนดให้มีการออกกฎหมายกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสืออีก ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงชุดลูกเสือ เนตรนารี จึงได้มีการทบทวนเรื่องของเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารี โดยมีการตั้งคณะทำงานเมื่อปี 2566 และมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปกครอง ลูกเสือ และครู แล้วมาสรุปเป็นกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือฉบับใหม่ โดยหลัก ๆ จะมี 3 เครื่องแบบ คือ เครื่องแบบปกติ เครื่องแบบปฎิบัติการ และ ชุดลำลอง เฉพาะอย่างยิ่งชุดลำลอง ที่เปิดโอกาสให้ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ในโรงเรียนสามารถเลือกได้ ตามความเหมาะสม สามารถทำกิจกรรมได้ง่าย คล่องตัว จะมีสัญลักษณ์ลูกเสือหรือไม่ก็ได้ เป็นการปลดล็อคเปิดกว้างให้ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือและสถานศึกษา เป็นผู้กำหนดเอง เนตรนารีก็ปรับให้ใส่กางเกงได้ เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการนำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในโอกาสต่อไป”รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว