เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปี 2568 โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ พลเอก อภิชาต อุ่นอ่อน ประธานคณะทำงานฝ่ายอำนวยการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกฤตชัย อรุณรัตน์ ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) ว่าที่ร้อยเอก วิสาร ปัญญชุณห์ รองอธิบดี สกร. นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีสกร. นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีสกร. พร้อมด้วย ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้อำนวยการกลุ่ม/ศูนย์ส่วนกลาง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นอกจากนี้ ผู้อำนวยการส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดทุกแห่ง/กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้าน หรือเฉพาะกิจการทุกแห่ง และผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ/เขตทุกแห่ง เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า ข้อสั่งการที่ได้ฝากความหวังไว้กับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) อาทิ การสอบเทียบ (การเทียบระดับการศึกษา) และ Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะสกร. มีอยู่ทุกตำบลในการดำเนินงาน อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่นเป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้ทราบว่า เด็กคนไหนที่ไม่สามารถไปเรียนได้ ด้วยเงื่อนไขอะไร นอกจากเติมเต็มในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว สกร.ยังเติมเต็มส่งเสริมในเรื่องของอาชีพ นอกจากนี้ยังฝากให้ทุกหน่วยงานการศึกษา และสถานศึกษาในสังกัด จัดทำพิกัด Google map เพื่อให้ทราบพิกัด หรือทราบว่า หน่วยงานการศึกษา และสถานศึกษาเราอยู่ตรงไหน พร้อมขอให้ทุกท่านร่วมขับเคลื่อนและสานต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” และนโยบาย “สุขาดี มีความสุข” ต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ ยังได้กล่าวเน้นย้ำถึงข้อสั่งการและแนวปฏิบัติให้แก่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้ง 6 ประเด็นสำคัญดังนี้
1) ให้นำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐบนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม (Action Plan)
2) ให้ยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม หลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน และดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อย่างเคร่งครัด เช่น การสอบ การบรรจุ แต่งตั้งโยกย้าย (ห้ามซื้อ-ขายตำแหน่ง) ห้ามทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุ ครุภัณฑ์ ชุดนักเรียน อาหารกลางวัน ฯลฯ
3) น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ
4) ให้ร่วมกันปลูกฝังการรักษาสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด
5) ส่งเสริมการอ่านและคิดวิเคราะห์อย่างเป็นกระบวนการ โดยผู้บริหารและครูต้องเป็นต้นแบบ
6) การลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม ให้ดำเนินการอย่างเรียบง่าย โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับการตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม โดยให้มีการดำเนินการอย่างเรียบง่ายและประหยัด เช่น ไม่ต้องผูกผ้า ไม่ต้องติดป้ายต้อนรับ ไม่มีของระลึกหรือของฝากใดๆ ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ยังได้สั่งการให้ไปดำเนินการ Action Plan โดยฝากให้ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด หน่วยงานการศึกษา และสถานศึกษาต่างๆ จัดทำแผน 3 ปีล่วงหน้า โดยขอให้ยึดหลักหลักการทำงาน “ ครองตน ครองคน ครองงาน ” อีกทั้งยังขอเชิญชวนให้พวกเรามาร่วมกัน “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” โดย ขอให้ทำงานด้วยความรวดเร็ว และเร่งด่วน เป้าหมายคือให้คนไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” โดยเริ่มจากพวกเราก่อน ทำอย่างไรให้ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ประชาชนคนไทย “มีความฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” เพื่อมุ่งไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ คือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”