เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2567 เพื่อนำนโยบายกระทรวงศึกษาธิการลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ร่วมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการกพฐ. และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 77 จังหวัด รวมถึงผู้อำนวยการสำนักและบุคลากรของ สพฐ. เข้าร่วมรับึฟังนโยบาย ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่การประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting และถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง OBEC Channel
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า การประชุมชี้แจงนโยบายและแนวทางในการทำงานวันนี้ เน้นย้ำเรื่องการดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนและนักเรียน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเสียใจขึ้นอีก โดยกำชับเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ อุบัติภัยต่างๆ ซึ่งล่าสุดจากการส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ท่านแจ้งว่ายินดีให้ความร่วมมือในการตรวจความพร้อมของรถก่อนออกเดินทางไปทัศนศึกษาหรือทำกิจกรรมของโรงเรียน พร้อมกำชับให้กำกับดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาต่างๆ รวมถึงการจัดการเรียนการสอน สร้างเครือข่ายทางการศึกษา ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อให้การศึกษาเกิดความเท่าเทียมในทุกพื้นที่ ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา พร้อมทั้งจัดทำแผนงาน 3 ปี ว่าใน 3 ปีข้างหน้าเราจะทำอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง โดยกำหนดตัวชี้วัดเป้าหมายที่ชัดเจน และแจกให้ ผอ.โรงเรียนในเขตที่ตนเองรับผิดชอบทุกแห่ง เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ และได้ฝาก ผอ.เขต และผู้บริหารทุกคน ให้ยึดหลัก “ครองตน ครองคน ครองงาน” วางตนอยู่ในศีลธรรม จริยธรรมอันดี นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และร่วมกันปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง ”จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน”
ด้าน นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้มาช่วยกันในเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้เมื่อสัปดาห์ก่อน และขอแสดงความเสียใจต่อเหตุที่เกิดขึ้น จึงขอเน้นย้ำเรื่องของมาตรการความปลอดภัย ต้องทำงานอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยเป็นสำคัญ มีแผนเผชิญเหตุ และการถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก นอกจากนี้่ขอเน้นย้ำนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ปีที่ 2 ที่ต้องการขับเคลื่อน ใน 7 ด้าน ดังนี้
1. ความปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียน อาจมีโรงเรียนหลายแห่งที่จัดกิจกรรมเข้าค่าย เข้าแคมป์ ขอให้กำชับ กำกับดูแลมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดี มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อความปลอดภัยด้วย
2. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เพื่อเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ และกระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยใช้สื่อออนไลน์และไซเบอร์ อย่างสร้างสรรค์
3. สอดส่อง/เฝ้าระวังอันตราย จากบุคคลภายนอกที่อาจเข้ามาสร้างความไม่ปลอดภัยในโรงเรียน
4. สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตั้งแต่ความร่วมมือกับผู้ปกครอง จนถึงหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยกันสอดส่อง ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากที่สุด
5.โครงการอาหารกลางวันนักเรียน ต้องบริหารจัดการให้ถูกต้อง เหมาะสมตามหลักโภชนาการ
6.พัฒนาสมรรถนะบุคลากร ให้มีความพร้อมเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
7. การบริหารงบประมาณ ที่จะดำเนินการในปี 2568 ขอให้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ อย่างมี
ประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ ให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐ อย่างสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงศึกษาธิการพร้อมขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทุกท่านเข้ามาช่วยกัน ผมขอเป็นกำลังใจให้ ผอ.เขต รอง ผอ.เขต และผู้บริหาร สพฐ. ทุกคน ในการบริหารการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับการศึกษาของประเทศไทย ให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมในทุกพื้นที่ มีคุณภาพทัดเทียมสากล และสามารถแข่งขันได้บนเวทีโลกต่อไป” รมช.ศธ. กล่าว