เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการช่วยเหลือสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย โดยทุกหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เร่งระดมความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยในครั้งนี้ โดย ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยหลายพื้นที่ในปีนี้ ศธ.ได้รับมอบหมายจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรเทาทุกข์แก่ประชาชน ฟื้นฟูสถานศึกษา คืนความสุขให้ผู้เรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษา
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ศธ.ได้จัดหน่วยจิตอาสา Fix it Center จากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 70 ทีม ซึ่งมีวิทยาลัยในสังกัดหลายแห่ง อาสาระดมกำลังจัดทำอาหารกล่องแจกให้แก่ผู้ประสบภัย ช่วยขนย้ายสิ่งของหลังน้ำลด ช่วยทำความสะอาดบ้านเรือน สถานศึกษา ซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ที่จมน้ำของประชาชน รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากอาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนำรถแทรกเตอร์ขุดดินและเครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปช่วยเหลือบริการประชาชนผู้ประสบภัยที่จังหวัดเชียงรายและพื้นที่อื่นแล้วกว่าหมื่นราย ซึ่งในระยะนี้ยังมีฝนตกสะสมอยู่ขอให้สถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัดพื้นที่สุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังตลอดเวลา คอยรับฟังข้อมูลประกาศเตือนจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและขอความกรุณาอย่าแชร์ข้อมูลที่ไม่แน่ใจเพื่อไม่ให้เกิดการสับสน หากจุดไหนรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยให้เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และหากมีแนวโน้มว่าจะถูกน้ำท่วมให้ตรวจสอบระบบไฟเพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า เหตุการณ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่หากเรามีมาตรการตั้งรับที่ดีก็จะลดความเสียหายได้มากขึ้น
“ขอบคุณทุกหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. ที่พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายทั้งผู้ที่เดือดร้อนและผู้ปฏิบัติงาน เราจะผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้ตามแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ขอให้มั่นใจว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และในสัปดาห์หน้าจะมีการปล่อยคาราวานทัพเสริม นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ร่วมลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายวันที่ 6 ตุลาคม 2567 นี้” โฆษก ศธ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย สพฐ. ได้แจ้งข้อมูลการช่วยเหลือ รายละเอียดดังนี้ สถานศึกษาได้รับผลกระทบจำนวน 487 โรงเรียน 60 สำนักงานเขตพื้นที่ (สพม. 13 เขต และ สพป. 47 เขต) รวม 34 จังหวัด นักเรียนที่ประสบเหตุอุทกภัย จำนวน 16,979 ราย ได้รับการเยียวยา จำนวน 14,671 ราย (สพท. 13,073 ราย และ สพฐ. 1,598 ราย)ครูและบุคลากร จำนวน 1,601 ราย ได้รับการเยียวยา จำนวน 1,207 ราย (สพท. 1,147 ราย และ สพฐ. 60 ราย) รวมจำนวนผู้ประสบเหตุอุทกภัย จำนวน 18,580 ราย ได้รับการเยียวยา จำนวน 15,878 ราย (สพท. 14,220 ราย และ สพฐ. 1,658 ราย) และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2,702 ราย
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาแก่สถานศึกษาและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ระยะสั้นได้มอบถุงยังชีพ จำนวน 1,030,000 บาท จากกองทุนรวมน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบภัย สพฐ. ส่วนระยะยาว ได้ประมาณการงบประมาณไว้ 23,456,456 บาท แบ่งเป็นงบจัดสรรซ่อมสุขาโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ 738,600 บาท งบล้าง ซ่อมแซมอาคารและสถานที่ 14,720,000 บาท และงบหนังสือ อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบ 7,997,856 บาท นอกจากนี้ องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) หน่วยงานในกำกับของ ศธ. ยังได้มอบสิ่งของ ชุดนักเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์เครื่องเขียน และอุปกรณ์ทำความสะอาด มูลค่า 200,000 บาท เพื่อนำไปมอบให้กับโรงเรียนที่ประสบอุทกภัย 55 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 32 จังหวัด รวมถึงสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน ยังได้จัดกิจกรรมจิตอาสาโครงการยุวกาชาดบำเพ็ญประโยชน์เพื่อฟื้นฟูหลังภัยพิบัติด้วย ในส่วนของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) พบสถานศึกษาได้รับความเสียหาย 71 แห่ง ประมาณการค่าดำเนินการฟื้นฟูกว่า 28 ล้านบาท แบ่งเป็น สกร.ประจำจังหวัด 5 แห่ง ระดับอำเภอ 24 แห่ง ระดับตำบลและชุมชน 28 แห่ง ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” 8 แห่ง ห้องสมุดประชาชน 6 แห่ง และประชาชนอีก 3 คน โดยได้ส่งมอบถุงยังชีพให้แก่สถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ด้วยงบดำเนินงานช่วยเหลือ 450,000 บาท และยังได้รับการสนับสนุนน้ำดื่มและผลิตภัณฑ์จากบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด 700,000 บาท เพื่อฟื้นฟูสำนักงาน สกร.จังหวัดและระดับอำเภอในจังหวัดเชียงราย 8 อำเภอ จัดซื้อวัสดุและถุงยังชีพ 700 ถุง รวมถึงจัดสรรงบช่วยเหลือบุคลากร 64 คน และนักศึกษา 633 คน