เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 34/2567  ว่า จากรายงานสถานการณ์น้ำท่วมของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม – 1 ตุลาคม 2567 มี 37 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลําพูน ลําปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย นครพนม

ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม บึงกาฬ หนองบัวลําภู อุบลราชธานี ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล มีประชาชนได้รับผลกระทบ 181,870 ครัวเรือน เสียชีวิต 49 ราย และบาดเจ็บ 28 ราย ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 26 กันยายน 2567 มีนักเรียน นักศึกษาที่ประสบภัย 21,739 คน มีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ประสบภัย 1,488 คน โดยจำนวนนี้มีสถานศึกษาและหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ รวม 256 แห่ง แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) 2 แห่ง  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) 25 แห่ง  กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) 43 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 143 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) 43 แห่ง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้รวบรวมงบประมาณ เพื่อของบกลางในการช่วยเหลือเยียวยาหน่วยงานและสถานศึกษา ศธ.ที่ประสบภัย จำนวน 260 กว่าล้านบาท พร้อมดำเนินการมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ใน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 การช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง เป็น “ค่าหนังสือ ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าอุปกรณ์การเรียน” ในอัตราเงินอุดหนุนรายหัว ของโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน แก่นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง สพฐ. สช. (ยกเว้นโรงเรียนนานาชาติ และ โรงเรียนที่ไม่รับเงินอุดหนุน) สอศ.รัฐและเอกชน สกร. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย มาตรการที่ 2 การช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษา เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูอาคาร สถานที่ และวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็น “ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด ซ่อมแซม ฟื้นฟูอาคารเรียน สิ่งปลูกสร้าง ห้องน้ำ ห้องสุขา และสภาพแวดล้อม ถนน หรือพื้นที่ในบริเวณสถานศึกษาที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอน” แก่หน่วยงาน สถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง สป. สพฐ. สอศ. สช. และ สกร. ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย ให้กลับสู่สภาพปกติ สามารถปฏิบัติงาน และจัดการเรียนการสอนได้”

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวด้วยว่า สำหรับความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา กาประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ของ สพฐ. และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ได้รับรายงานว่า มีการอบรมออนไลน์ “การสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” ระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม 2567 จำนวน 3 วิชา วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย ในรูปแบบผสมผสาน ทั้งออนไลน์และออนไซต์ หลักสูตร 5 วัน จำนวน 8 รุ่น ๆ รุ่นละ 40 คนต่อวิชา รวม 960 คน  , มีการติดตามการประชุมการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยชุดพัฒนาความฉลาดรู้ และ Computer Based Test ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในสถานศึกษาทุกแห่ง , มีการรายงานการขับเคลื่อนและนำนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในห้องเรียน ภาคเรียนที่ 1/2567 รวมถึงมีการต่อยอดคุณภาพ โรงเรียนพี่-โรงเรียนน้อง Learn to earn การศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต

“อย่างไรก็ตามนอกจากมีการจัดทำคู่มือและบันทึกเทปในการสร้างข้อสอบตามแนวมาตรฐานสากลแล้ว ยังจัดให้มีระบบประเมินภายหลังการอบรมว่า มีการนำความรู้และทักษะไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร พร้อมจัดระบบห้องเรียนออนไลน์เพื่อขยายผลในระดับพื้นที่ของ สพฐ. สอศ. สช. ด้วย” รมว.ศึกษาธิการกล่าว

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments