เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า วันนี้ได้นำเรื่องสำคัญมาหารือกันในที่ประชุมและให้แจ้งไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ กรณี การออกแถลงการณ์ของสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการแห่งประเทศไทย เรื่อง “ขอยกเลิกจ้างเหมาบริการผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568” โดยระบุว่า สำนักงบประมาณได้แจ้งกรอบการจัดสรรงบประมาณโดยไม่ได้จัดสรรเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และให้ปรับวิธีการจ้างเป็นวิธีการจ้างเหมาบริการ ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 พร้อมทั้งแจ้งบัญชีจัดสรรธุรการโรงเรียน อัตราละ 15,000 บาท และอัตราละ 9,000 บาท พร้อมทั้งได้นัดหมายที่จะมาที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมาขับเคลื่อนให้ยกเลิกวิธีการจ้างเหมาบริการ ในวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567 นี้ นั้น

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า การออกระเบียบของกรมบัญชีกลางส่งผลกระทบกับการจ้างงานตำแหน่งลูกจ้าง ทุกตำแหน่งของสพฐ.ซึ่งมี มากกว่า 60,000 รายทั่วประเทศ ซึ่ง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสพฐ.รับทราบปัญหาแล้ว และไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งเมื่อวานนี้ตนได้ทำหนังสือหารือไปยัง กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นผู้ออกระเบียบในการจ้างผู้ปฏิบัติงานและจัดสรรเงินงบประมาณ โดยขอหารือใน 4 ประเด็น คือ 1. การจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการดังกล่าวถือเป็นการจ้างลูกจ้างชั่วคราวหรือการจ้างเหมาบริการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และการจ้างเอกชนดำเนินงาน ซึ่งส่วนราชการต้องดำเนินการเป็นไปตามนัยของหนังสือที่อ้างถึง 2. การจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการดังกล่าว สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ในฐานะผู้ว่าจ้างสามารถจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคมได้หรือไม่ 3. หาก สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในฐานะผู้ว่าจ้าง ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม ตามข้อ 2 สพฐ. สามารถขอเงินเพิ่มเพื่อจ่ายเงินในส่วนของผู้ว่าจ้างได้หรือไม่ และ 4.สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในฐานะผู้ว่าจ้าง ต้องจ่ายอัตราค่าแรงขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนให้กับผู้ปฏิบัติงานให้ราชการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ได้เห็นชอบรายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 (เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ) และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2567 ได้หรือไม่ โดยขอให้กรมบัญชีกลางตอบข้อหารือดังกล่าวภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2567 เพื่อที่ สพฐ. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงขอให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบรอคำตอบจากสองหน่วยงานนี้ก่อน โดยในวันพรุ่งนี้(2 ต.ค.)ตนจะเชิญตัวแทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการแห่งประเทศไทยมาหารือกันเพื่อหาความเหมาะสมต่อไป ดังนั้นตนอยากขอร้องว่าอย่าเพิ่งเดินทางมาขับเคลื่อนในวันที่ 8 ต.ค.นี้ เลย

“ผมเห็นด้วยในเรื่องการปรับค่าจ้างคนที่จบปริญญาตรีให้เท่ากับข้าราชการที่เริ่มสตาร์ทที่ 16,500 บาท เพราะตอนนี้เราจ้างระดับปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งผมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้เห็นชอบในโอกาสต่อไป ส่วนที่มีความกังวลว่าหากเป็นลูกจ้างเหมาจะเสียสิทธิ์สอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ(ว.16 ว.17)นั้น จะไม่กระทบสิทธิ์ตรงนั้นแน่นอน เพราะสพฐ.ได้แก้หลักเกณฑ์ระเบียบให้แล้ว ถ้าเป็นลูกจ้างทำงานครบ 3ปีก็มีสิทธิ์เข้าสอบ ว.16 ว.17 เหมือนเดิมไม่กระทบสิทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ สพฐ. โดยตรง เนื่องจากเป็นระเบียบที่กรมบัญชีกลางกำหนด และสำนักงบประมาณเป็นผู้จัดสรรเงิน”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

3 2 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments