ที่ ศาลอาญารัชดา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ระหว่าง บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(1977)จำกัด โจทย์ และ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่1 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล จำเลยที่ 2 นายภกร รงค์นพรัตน์ จำเลยที่3 นายธิติทัศน์ ธนัชนนท์เดชน์ จำเลยที่ 4 และนายอภิชัย รุ่งเรืองกุล จำเลยที่ 5 แต่จำเลยที่ 1-4 ไม่มามอบหมายให้คนอื่นมาแทน มาแต่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเอกชน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)ได้มีหนังสือที่ ศธ.5205 1/129 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ขอความอนุเคราะห์พนักงานอัยการแก้ต่างคดีให้กับจำเลยที่ 2-4 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคคีอาญา 1 สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับเรื่องไว้พิจารณาเพื่อรับแก้ต่าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของพนักงานอัยการ โดยสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 1 ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ อส.0008 1/397 ลงวันที่ 27 กันยายน 2567 ให้สำนักงาน คณะกรรมการ สกสค. ชี้แจงข้อเท็จเพิ่มเติม วันนี้จำเลยที่ 2 – 4 จึงยังไม่มีทนายความ แต่จำเลยที่ 2 – 4 ประสงค์ที่จะให้พนักงานอัยการทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างคดีในขั้นไต่สวนมูลฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา8(2)อีกทั้งจำเลยที่ 2 – 4 ประสงค์จะยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สำคัญที่ศาลควรสั่งว่า คดีไม่มีมูลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165/2 โดยพนักงานอัยการ ผู้รับเป็นผู้จัดทำคำแถลงดังกล่าวเพื่อยื่นต่อศาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อจัดทำคำแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งยังไม่แล้วด้วยเหตุความจำเป็นดังกล่าว จึงขออนุญาตศาลได้โปรดเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันนี้ออกไปสักนัดหนึ่ง เพื่อให้พนักงานอัยการได้เข้ามาดำเนินการเป็นทนายความให้จำเลยที่ 2 – 4 หรือมิฉะนั้นก็ขอให้พยานโจทก์ที่มาศาลในวันนี้เบิกความไปก่อน แล้วจำเลยที่ 2 – 4 ขอใช้สิทธิถามค้านในนัดหน้าต่อไป เพื่อให้จำเลยที่ 2 – 4 ได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งศาลได้อนุญาตและนัดให้มีการไต่สวนมูลฟ้องเลื่อนออกไปเป็นในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 เนื่องจากจำเลยอ้างรอแต่งตั้งอัยการมาแก้ต่าง
ทั้งนี้ นายพีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการสำนักงาน สกสค.ได้แนบ สำเนาพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 สำเนาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2558 ลงวันที่ 16 เมษายน สำเนาหนังสือที่ นร 1200/71 ลงวันที่ 4 มกราคม 2553 เรื่อง การปรับปรุงหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร โดยสรุปได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มีฐานะเป็นนิติบุคคล ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ และมีคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำหน้าที่บริหารงานสำนักงานฯ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นไปตามมาตรา 62
มีอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบคณะกรรมการ ตามมาตรา 63 และมาตรา 64 ประกอบคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2558 ลงวันที่ 16 เมษายน 2558 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ตามมาตรา 75 นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550ได้พิจารณาเรื่องหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐแล้วมีมติเห็นชอบตามมติ ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2550 วันที่ 26 มกราคม 2550 และครั้งที่ 2/2550 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง หลักเกณฑ์การจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ ประกอบกับคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ได้พิจารณาเรื่องการปรับปรุงหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหารแล้ว ลงมติเห็นชอบกับหลักการตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ โดยสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ถูกจัดให้เป็นหน่วยงานของรัฐประเภทองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ(หน่วยงานในกำกับ) ดังนั้น ตามที่บริษัท รุ่งศิลป์ฯฟ้องร้องมาเบื้องต้น สำนักงานงานคณะกรรมการ สกสค.ขอเรียนเพิ่มเติมว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการ สกสค. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล ในฐานะผู้อำนวยการค้าของ สกสค.นายภกร รงค์นพรัตน์ ในฐานะรองผู้อำนวยการองค์การค้าฯของสกสค.และนายธิติทัศน์ ธนัชนท์เดชน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุองค์การค้าฯ พิจารณาข้อกล่าวอ้างตามคำฟ้องของโจทก์แล้วไม่เป็นความจริง แต่อย่างใด โดยกรณีการให้ข่าวผ่านทางช่องทางสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ขององค์การค้า สกสค. และทางการเสนอข่าวอีกหลายช่องทางนั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ สำนักงาน สกสค.ให้การดำเนินงานการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ให้แล้วเสร็จ ทันก่อนเปิดภาคเรียนและเพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียนตลอดถึงครู นักเรียน และผู้ปกครอง
ด้านนายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการผู้รับมอบอำนาจ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์(1977)จำกัด กล่าวว่า มีปัญหาตั้งแต่ TOR ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คุณสมบัติกระดาษที่ไม่มีอยู่จริง และเขาก็ยอมรับเองว่าขณะที่ทางโรงพิมพ์กำลังจัดพิมพ์หนังสือก็ส่งปกให้ไม่ครบตามใบสถานะที่ระบุ กว่าจะส่งครบก็วันที่ 27 เมษายน 2567 เหลือเวลาเพียง 10 กว่าวันก็จะครบกำหนดสัญญา โดยตอนที่จะพิมพ์ปกทางโรงพิมพ์ก็แจ้งองค์การค้าฯตลอดว่า ปกไม่ครบ ให้มานับ ซึ่งแทนที่เขาจะรีบทำปกส่งมากลับตอบมาว่าต้องการปกไหนให้แจ้งไป เพราะฉะนั้นการที่มาอ้างว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ในการดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 ให้แล้วเสร็จทันก่อนเปิดเทอมนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะสิ่งที่พูดมานั้นดูเหมือนจะต้องการให้สังคมเห็นว่า โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ไม่มีความสามารถ ไม่มีความพร้อม ไม่สมควรพิมพ์หนังสือให้ สกสค. ซึ่งในทางปฏิบัติหากองค์การค้า สกสค.รู้ว่า โรงพิมพ์มีปัญหา ควรต้องมาช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อให้การจัดพิมพ์มีประสิทธิภาพและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งควรต้องมาร่วมมือกันถึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับมาให้ข่าวใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จจึงไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นข้อแก้ต่างนี้จึงฟังไม่ขึ้น
“ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ที่มีการให้ร้ายโรงพิมพ์รุ่งศิลป์โดยอ้างว่า ตนเองเป็นเจ้าพนักงาน เพื่อขอตั้งอัยการแก้ต่าง แต่ตอนที่ไปชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลับบอกว่าตัวเองเป็นเอกชน หรือแม้แต่ตอนแถลงข่าวก็บอกว่าไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้ใช้งบฯของรัฐแม้แต่บาทเดียว แต่พอมาที่ศาลกลับบอกว่าเป็นเจ้าพนักงานอีก วันนี้ศาลจึงบอกให้กลับไปดูข้อกฎหมายให้ดีก่อน ซึ่งเราก็ต้องกลับไปทำการบ้านเพิ่มในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตามตอนนี้เขาพยายามต่อสู้ว่าเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่ แต่เรามองว่าการให้ข่าวที่มีการแสดงความเห็นไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่”นายนัทธพลพงศ์ กล่าว