วันที่ 14 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ร่วมคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์ของสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัย ให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพแก่ครู บุคลากร และนักเรียน นักศึกษาที่ประสบอุทกภัย โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ผู้บริหาร ศธ.ได้แบ่งสายการตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพ ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ ยารักษาโรค และอาหารแห้ง กระจายไปในหลายๆ จุดที่ประสบอุทกภัย ซึ่งที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ) สังกัด สพฐ. เป็นจุดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ โดยกระแสน้ำได้ไหลเข้ามาท่วมโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน ในช่วงเช้าจนถึงช่วงค่ำความสูงประมาณ 1.5 เมตร ทางโรงเรียนได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน โดยเร่งอพยพนักเรียนออกจากพื้นที่โรงเรียนและชุมชน ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงค่ำ โดยใช้เรือในการลำเลียงนักเรียนออกจากพื้นที่จนปลอดภัยครบทุกคน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยที่ สพฐ. ได้กำชับไว้ และการสำรวจความเสียหายเบื้งต้น พบว่า ตัวคานและทรัพย์สินที่อยู่ภายในชั้น 1 ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามสถานการณ์ของสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่า มีสถานศึกษาหลายแห่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ โดยตนได้กำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) สำรวจโรงเรียนในเขตพื้นที่ฯที่รับผิดชอบ โดยดูแลช่วยเหลือในเบื้องต้น และจัดทำแผนบูรณะฟื้นฟู เพื่อดำเนินการได้อย่างรวดเร็วหลังน้ำลด และให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน และที่สำคัญต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด เป็นผู้นำหลักในการประสานงานดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบ เพราะมีพยากรณ์อากาศว่า จะมีพายุเข้ามาอีก ซึ่งอาจจะเกิดเหตุน้ำท่วมซ้ำได้ และขอเน้นย้ำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัย รวมถึงแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้ และให้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียนโดยเน้นความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจผู้บริหารสถานศึกษา ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้จัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และสามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังเขตพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย สพฐ. ได้รายงานสถานการณ์สถานศึกษาในสังกัดที่ประสบเหตุอุทกภัยทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุด วันที่ 14 กันยายน 2567 มีสถานศึกษาใน 25 จังหวัดได้รับผลกระทบ จำนวน 368 โรงเรียน 41 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยจังหวัดเชียงรายมีสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 6 แห่ง มีจำนวนผู้ประสบเหตุอุทกภัย ทั้งสิ้น 16,067 คน จำแนกเป็น นักเรียน จำนวน 14,671 คน ได้รับการเยียวยาแล้ว จำนวน 5,249 คน และ ครู-บุคลากร จำนวน 1,396 คน ได้รับการเยียวยาแล้ว จำนวน 864 คน ส่วนที่เหลือ 9,954 คนอยู่ระหว่างดำเนินการ เยียวยา” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว

ทั้งนี้ ขอขอบคุณภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงราย ที่ให้การสนับสนุนถุงยังชีพ ให้แก่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) เชียงรายเขต 1 จำนวน 7 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนผาขวางวิทยา โรงเรียนบ้านห้วยทรายขาว โรงเรียนบ้านน้ำลัด โรงเรียนบ้านผาเสริฐ โรงเรียนบ้านเวียงกือนา และโรงเรียนบ้านป่ายางหลวง โรงเรียนบ้านเวียงกือนา และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค )

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments