วันที่ 12 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมติดตามสถานการณ์เหตุอุทกภัยในเขตพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินการช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย จากผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับผลกระทบและต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด โดยมีผู้บริหารและผู้อำนวยการสำนักของ สพฐ. เข้าร่วมประชุม อาทิ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ นายตฤณ ก้านดอกไม้ ผอ.ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. นางสาวลิลิน ทรงผาสุก ผอ.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางสาวสุชาดา สภาพงศ์ ผอ.สำนักอำนวยการ เป็นต้น ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ DOC อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนและสร้างความเสียหายต่ออาคารสถานที่ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลายแห่ง ขอเน้นย้ำให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานปกครองในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พิจารณาดำเนินการได้ทันทีตามความเหมาะสม จำเป็นเร่งด่วน โดยไม่ต้องรอข้อสั่งการ ให้เร่งแจ้งมายัง สพฐ. ส่วนกลาง กรณีขอรับความช่วยเหลือ สนับสนุนกำลังเสริมเพิ่มเติม พร้อมรายงานสถานการณ์ความเสียหายและการดำเนินการแก้ไขในเบื้องต้น ซึ่งในส่วนของการช่วยเหลือ สพฐ. ได้เร่งรัดจัดสรรงบประมาณไปยังเขตพื้นที่ที่ประสบเหตุ เพื่อช่วยคลี่คลายบรรเทาความเดือดร้อนโดยตรง มีการจัดหาถุงยังชีพเพื่อแจกจ่ายให้นักเรียนและครูที่ประสบภัยให้ครบทุกคน ทั้งที่เป็นเครื่องใช้ ข้าวสารอาหารแห้ง หรือ น้ำดื่มและอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน สำหรับพื้นที่ที่ถูกตัดน้ำตัดไฟ ทั้งนี้ ขอให้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน อย่างตรงจุด เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและครู รวมถึงบุคลากรในพื้นที่เป็นอันดับแรก หากพบเหตุเร่งด่วนที่สามารถช่วยเหลือได้ก็ขอให้ช่วยกัน ด้วยจิตวิญญาณของการช่วยเหลือและสามัคคีร่วมมือร่วมใจ เพื่อฟันฝ่าสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ในจังหวัดที่ประสบเหตุและได้รับความเสียหาย เช่นในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้เร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ อาคารเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อจัดสรรงบประมาณลงไปปรับปรุงซ่อมแซม ให้สามารถกลับมาจัดการเรียนได้ตามปกติโดยเร็ว และในจังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดริมแม่น้ำโขง ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ให้ติดตามสถานการณ์มวลน้ำอย่างใกล้ชิด ประสานหน่วยงานปกครองในพื้นที่ เพื่อวางแผนเตรียมการรับมือและเผชิญเหตุ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายในอนาคต

“จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยดังกล่าว ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 8,085 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 979 คน รวมทั้งสิ้น 9,064 คน ซึ่งขณะนี้ได้รับการเยียวยาเรียบร้อยแล้ว จำนวน 6,113 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 กันยายน 2567) และจะดำเนินการเยียวยาช่วยเหลือต่อไปจนครบถ้วน พร้อมทั้งได้กำชับให้ สพฐ. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทางเขตพื้นที่ฯ ก็ได้ดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มความสามารถ ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากโรงเรียนใดต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถแจ้งมายังเขตพื้นที่ฯ หรือศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. เพื่อได้ดำเนินการดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments