เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2567 โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการสภาการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งเป็นการประชุมในรูปแบบผสมผสานระหว่างการประชุมออนไลน์และออนกราวด์
โดยคณะกรรมการสภาการศึกษาได้เห็นชอบเรื่อง ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย พ.ศ. 2567 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐร่วมมือกับเอกชนและประชาชนในพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ในแต่ละจังหวัดของประเทศ รวมทั้งสร้างทักษะชีวิตให้เด็กวัยเรียน เตรียมความพร้อมในการจัดการแก้ปัญหาและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างเหมาะสม หน่วยงานทางการศึกษาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรด้านการเงินตั้งแต่ในวัยเรียน เช่น การเรียนรู้เรื่องภาษี การลงทุน และการเสริมสร้างวินัยการออม สถานศึกษาส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะในการดำรงชีวิตผ่านการพัฒนาทักษะ ความรู้ ทัศนะคติ และคุณค่าที่ดีต่อตนเองและสังคม เพื่อมุ่งสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมอบ สกศ. ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ อาทิ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ นำไปใช้ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำไปใช้ในการศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ประเด็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) นำไปใช้เป็นตัวชี้วัดในการดำเนินงานขององค์กร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นต้น
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้แจ้งความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้
1) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2567 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567
2) ความก้าวหน้าในการเตรียมการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย มีสถานศึกษาที่ตอบตกลงเข้าร่วมนำร่อง 71 แห่ง และจะมีการจัดกิจกรรมแฮกกาธอน(Hackathon) สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา เป็นการแข่งขันแก้ปัญหาที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะ
3) สกศ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาและเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ ได้แก่ การลดภาระค่าไฟฟ้าในสถานศึกษา การเพิ่ม “สถานศึกษา” เป็นผู้รับบริการเฉพาะ การแยกค่าไฟฟ้าออกจากเงินอุดหนุนรายหัว เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า การออกมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับผู้บริจาคเพื่อการศึกษา เป็นต้น
4) ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับจังหวัดของประเทศไทย ปีงบประมาณ 2565 – 2567 พบว่า ประเทศไทยมีคุณภาพการศึกษาในภาพรวมอยู่ในระดับ “พอใช้” ทุกปีงบประมาณ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการควรสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาไปยังคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรงสำหรับ สกศ. ควรดำเนินการกำหนดนโยบายการศึกษาที่สร้างเป้าหมายชีวิตของมนุษย์ เพื่อตอบสนองการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมให้ดียิ่งขึ้น
5) การขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ได้ขยายผลการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การขอเพิ่มเติมเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิในประเทศของสำนักงาน ก.พ. ให้เป็นไปตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และการศึกษาแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศไทยและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน
6) ความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอเข้าครม.
7) ร่างแผนแม่บทการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์จะเสนอคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทยต่อไป
8) ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพโครงการประชุมโต๊ะกลมไทย – รัสเซีย ครั้งที่ 5 เรื่อง ความร่วมมือด้านการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษและวิจัย (The Fifth Russia-Thai Roundtable (RTRT) : Collaboration on Gifted Education and Research) ในรูปแบบออนไลน์ กำหนดการจัดประชุมในช่วงเดือนกันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร
9) การส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด 9 จังหวัดนำร่อง (แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นราธิวาส สระแก้ว ชัยนาท สระบุรี) จะสรุปผลการดำเนินงานและถอดบทเรียนการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดเพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลให้จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป
10) กระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพในระดับจังหวัดรับผิดชอบแผนยุทธศาสตร์ และการบูรณาการการจัดการศึกษาพิเศษเพื่อรับประกันว่าคนพิการทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
11) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบแผนและร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและจิตอาสา และแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและประเมินผล เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการติดตามข้อมูลการนำแผนฯ สู่การปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ บอร์ดสภาการศึกษาจะมีการติดตามการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ เพื่อสานต่อการขับเคลื่อนการศึกษาของชาติต่อไป