เมื่อวันที่25 สิงหาคม 2567 ที่ สนามช้างอารีน่า จังหวัดบุรีรัมย์ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน อาเซียนบวกสาม(จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) และอาเซียนบวก8(จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย)เข้าร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อ “การพลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) โดย

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งสำคัญครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล ” ซึ่งจัดที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่ง จังหวัดบุรีรัมย์ไม่เป็นจังหวัดที่มีเพียงความหลากหลายและเก่าแก่ทางวัฒนธรรม แต่เป็นพื้นที่ที่ริเริ่มนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาบูรณาการกับการบริหารท้องถิ่นและการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จังหวัดบุรีรัมย์จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมกับการหารือเกี่ยวกับการสร้างการศึกษาและการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า 2 วันที่ผ่านมา เราได้พารัฐมนตรีอาเซียนไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาที่มุ่งเน้นทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ที่ทำให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่มีกระบวนการเรียนการสอนแบบจิตศึกษา ซึ่งมีการขยายผลและเป็นต้นแบบการจัดการเรียนการสอนไปทั่วประเทศและต่างประเทศ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ที่ริเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล นอกจากนี้ ยังมีการเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ซึ่งช่วยเสริมสร้างทักษะดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และส่งเสริมทักษะอาชีพที่สร้างรายได้ระหว่างเรียนและทำให้ผู้เรียนมีงานทำหลังจากจบการศึกษา

“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าการพัฒนาทักษะและการพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นเรื่องจำเป็นต่อการส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ที่มุ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในระบบการศึกษาให้นักเรียนและครูทั้งในเมืองและชนบทสามารถเข้าถึงเครื่องมือ ทรัพยากร และช่องทางการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สอดคล้องกับแนวคิด 1 วิสัยทัศน์ 1 อัตลักษณ์ 1 ประชาคม ของอาเซียน ที่มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ครอบคลุม และเท่าเทียมกันสำหรับผู้เรียนทุกคน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวและว่า ในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างบรรยากาศการหารือร่วมกัน และการมีส่วนร่วมในประเด็นที่สร้างสรรค์ เวทีการประชุมนี้จะกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้เกิดการปรับเปลี่ยนในเชิงความคิดและกำหนดกลยุทธ์ในเชิงนวัตกรรมสำหรับอนาคตของการศึกษาในอาเซียน เราสามารถสร้างกรอบการดำเนินการด้านการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นซึ่งจะเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วผ่านกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคและหุ้นส่วนที่ร่วมมือกันระดับโลก

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ การมีส่วนร่วมของทุกประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของการประชุม ซึ่งเป็นตามเจตนารมณ์ในความต้องการพลิกโฉมการศึกษา และสร้างอนาคตที่สดใสให้กับภูมิภาคของพวกเรา ขอให้ทุกท่านมาร่วมกันค้นหาแนวทางเพื่อก้าวไปข้างหน้า ร่วมกันทำงาน สร้างชุมชนที่มีความเสมอภาคและยั่งยืนเพื่อพลิกโฉการศึกษาสู่ยุคดิจิทัลร่วมกัน

นายเอกภาพ พันทะวง รองเลขาธิการอาเซียน กล่าวภายหลังพิธีเปิดการประชุม ว่า ชื่นชมประเทศไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และจัดพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรี ด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างยิ่งใหญ่และน่าประทับใจ สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่าง ASEAN-SEAMEO เช่น โครงการ “Intra-ASEAN Scholarship Programme for ASEAN Nationals” โดยเป็นการพัฒนาทุนการศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจา และ โครงการ “ASEAN-SEAMEO Joint Declaration on the Common Space in Southeast Asian Higher Education” ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพการอุดมศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียน และซีมีโอ เพื่อพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองโลกในฐานวิถีชีวิตใหม่ เป็นต้น

“การจัดประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้ทําให้รู้จักจังหวัดบุรีรัมย์มากยิ่งขึ้นทั้งทางด้านวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม รวมถึงศักยภาพของนักเรียนที่น่าประทับใจ ตลอดจนขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย ที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งนี้ด้วย

ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  ทุกประเทศสมาชิกมีความสนใจเรื่องโครงสร้าง กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจาก จำนวนประชากร ของประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก มีผู้เรียนจำนวนมาก และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งจะดูได้จากการพาไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนต่างๆ ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนใจการใช้เทคโนโลยี และ การแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเทรนด์การจัดการศึกษาในอนาคตนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียน มองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือAI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อวงการศึกษา ซึ่ง นโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเทคโนโลยีมา มาเป็นนโยบาย การศึกษา เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (anywhere anytime )โดยการจัดทำแพลทฟอร์มการเรียนรู้ที่ทันสมัย และสามารถดึงทรัพยากรการใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยใช้ทักษะในเรื่อง AI มาบูรณาการร่วมกับวิชาต่างๆ

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments