สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพครู ประจำปี พ.ศ. 2567 (The OTEPC International Forum on Teaching Profession Development 2024) ภาวะผู้นำร่วม : กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัด การเรียนรู้แห่งอนาคต (Collective Leadership: The Key to Success in Future Schooling) โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิด ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวระหว่างการเป็นประธานพิธีเปิดว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับโลกที่มีความผันผวนการเปลี่ยนแปลงอยากรวดเร็ว ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล การติดต่อสื่อสารมีการเชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็ว การมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีทัศนคติที่ดี (Growth Mindset) ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง จึงมีความสำคัญมาก ปัจจัยเหล่านี้เป็นความท้าทายสำหรับอนาคตของการศึกษา ผมเชื่อว่าปัจจัยความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ มาจากความสามารถของพวกเราทุกคน ที่มีศักยภาพแตกต่างกัน มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานร่วมกัน ภายใต้แนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการ การพัฒนาสถานศึกษา และคุณภาพผู้เรียน ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ ของผู้นำจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในทุกมิติ เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน ไปสู่เป้าหมายการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต

รมว.ศึกษาธฺการ กล่าวต่อไปว่า การจัดประชุมนานาชาติในครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลและประสบการณ์จากนานาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างบทบาทภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา และครูในสถานศึกษา จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และคุณครูชาวต่างประเทศ ที่จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและผู้ที่เกี่ยวข้อง นำหลักการหรือแนวคิดภาวะผู้นำร่วม ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคตได้อย่างดียิ่ง และ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากการประชุมนี้จะเป็นแนวทางให้กับทุกท่านในการร่วมกันกำหนดอนาคตของการศึกษาต่อไป

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า การจัดประชุมนานาชาติในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ภาวะผู้นำร่วม : กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต (Collective Leadership: The Key to Success in Future Schooling) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดภาวะผู้นำร่วมจากประเทศต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ ในการเสริมสร้างบทบาทภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาและครูในสถานศึกษา ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรด้านการศึกษา นักวิชาการ นักการศึกษาจากนานาประเทศ

โดยในช่วงหนึ่งของกิจกรรมการอภิปรายในหัวข้อ “Collective Leadership: The Key to Success in Future Schooling” ภาวะผู้นำร่วม: กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต โดยผู้ทรงคุณวุฒิและนักการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง และบรูไน ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดภาวะผู้นำร่วมว่า ภาวะผู้นำร่วมมีความคล้ายคลึงกับการกระจายอำนาจ แต่สำหรับบางประเทศคือแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วม พาทุกคนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปด้วยกัน เปิดใจยอมรับ มองเห็นเป้าหมายและทำงานแบบเกื้อกูลกัน สิ่งสำคัญของภาวะผู้นำร่วมคือความว่องไวในเชิงวิสัยทัศน์ ความยืดหยุ่น การปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีทิศทางที่ชัดเจนเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ผู้นำสถานศึกษาควรให้ครูมีเวลาเพื่อสร้างสรรค์แนวคิดหรือการเรียนรู้ใหม่ ๆ ด้วยการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อนำไปสู่ความเชี่ยวชาญในการสอนมากขึ้น ครูที่เก่งงานสอน ก็ควรจะส่งเสริมให้เขาได้เติบโตในสายงานสอนและเป็นผู้นำในการแบ่งปันทักษะการสอนให้กับครูคนอื่น สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนแบบกัลยาณมิตรเพื่อมาช่วยพัฒนาการศึกษาไปด้วยกัน อีกทั้งการให้ความเชื่อใจ และให้อำนาจในการตัดสินใจกับครู คือภาวะผู้นำร่วมที่สำคัญของผู้บริหารสถานศึกษา ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่ประโยชน์สูงสุดของนักเรียน ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและเปิดโอกาสให้ครูทุกคนทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาวะผู้นำร่วม ควรให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนานวัตกรรมการสอนให้สอดคล้องกับครู โรงเรียนและบริบทของชุมชน

นอกจากนี้ในการประชุมยังมีการนำเสนอข้อมูลจากนักวิชาการจากนานาประเทศ ทั้งประเทศไทย แคนาดา ลาว และมาเลเซีย ในประเด็น “The Roles of Collective Leadership in Supporting Educational Reformation for the 21ST Century Education” (บทบาทของการเป็นผู้นำร่วมในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21) ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการประชุมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักการศึกษาและผู้ที่สนใจด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี และจะเป็นแนวทางในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาและเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อผู้เรียนในอนาคตต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments