เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และ ที่เกี่ยวข้อง (13 th ASEAN Education Ministers’ Meeting and Related Meetings) ระหว่างวันที่ 23- 26 สิงหาคม 2567 ว่า การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และ การประชุมที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการจัดประชุมด้านการศึกษาที่มีความสำคัญอย่ายิ่งสำหรับประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และ ยังเป็นการประชุมครั้งที่ 7 ของ อาเซียนบวกสาม(จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี) และอาเซียนบวก 7 (จีน, ญี่ปุ่น,เกาหลี, ออสเตรีย, นิวซีเเลนด์, อินเดีย,สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการจัดการนโยบายด้านการศึกษาของอาเซียน การประชุมจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) โดยมีจุดประสงค์เพื่อวางแนวทางด้านการศึกษาของอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรม การผลิต รวมถึงการให้บริการ อีกทั้งยังมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมอีกด้วย

“ประเทศไทยมองว่านี่คือโอกาสในการยกระดับอาเซียนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ หรือ SDGs นอกจากนี้ ประเทศไทยมุ่งที่จะนำอาเซียนไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในกรอบความร่วมมือการศึกษาอาเซียนบวกสาม และแผนดำเนินการการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า บทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์โลกจากการแทรกแซงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคดิจิทัล ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยเหตุนี้ เราจึงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดรูปแบบและเปลี่ยนแปลงการศึกษาเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในยุคดิจิทัล การประชุมที่กำลังจะมีขึ้นนี้ จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งผลลัพธ์อันจะส่งเสริมอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนของเรา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพลเมืองของเราทุกคนอย่างแท้จริง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ในระหว่างการประชุม จะมีการจัดทัศนศึกษา ณ สถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ทั้ง ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการการจัดแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงานด้านการศึกษา ตามนโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ ของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เลือกจังหวัดบุรีรัมย์เป็นสถานที่จัดการประชุม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการจัดงานระดับโลกขนาดใหญ่ และมีสถานะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางการศึกษา  ด้วยสถาบันการศึกษาที่โดดเด่นกว่า 80 แห่ง จังหวัดบุรีรัมย์มีความพร้อมสำหรับการนำเสนอการจัดการเรียนการสอน ในบริบทของการกำกับดูแลการศึกษาที่มีความเป็นอิสระและมีความยืดหยุ่น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments