ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)เปิดเผยว่า ขณะนี้การประเมินคุณภาพภายนอกของปีงบประมาณ 2567 ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ โดยปีนี้มีความล่าช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้องรอให้การประกาศเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกครบ 1 ปี ตามข้อบังคับของ สมศ. โดยผู้ประเมินภายนอก ได้มีการวิเคราะห์ SAR เสร็จสิ้นเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา และได้เริ่มลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากที่ สมศ. ได้ปรับกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก โดยยึด 3 ประเด็นหลัก คือ ให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) เน้นลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีสถานศึกษาแจ้งความประสงค์ขอเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกเข้ามาถึง 5,134 แห่ง สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ประมาณ 4,220  แห่ง โดยมีการประกาศรายชื่อสถานศึกษาที่เข้ารับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรายชื่อผู้ประเมินภายนอกอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ผ่านทางเว็บไซต์ของ สมศ. https://www.onesqa.or.th/th/contentdownload/905/

ดร.นันทา กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามนโยบายของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ สมศ. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา สมศ. ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมอีกครั้งก่อนลงพื้นที่จริงโดยเป็นการประชุมชี้แจงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Facebook Live) ให้กับสถานศึกษาและผู้ประเมินภายนอกเพื่อให้รับทราบร่วมกันเกี่ยวกับ การลงพื้นที่  ว่าสถานศึกษาต้องดำเนินการอย่างไร ผู้ประเมินต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้สถานศึกษาและผู้ประเมินภายนอกมีความเข้าใจที่ตรงกันและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และที่สำคัญเพื่อให้สถานศึกษาได้ทราบข้อมูลและมีความเข้าใจที่ตรงกันกับผู้ประเมิน หากพบเห็นผู้ประเมินภายนอกปฏิบัติตนหรือเรียกร้องอะไรนอกเหนือจากที่ สมศ. แจ้งไป สถานศึกษาสามารถแจ้งเข้ามาที่ สมศ. ได้ทันที นอกจากนี้ สมศ.จะมีการสุ่มเข้าไปสังเกตการณ์การประเมินภายนอกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าให้ทราบด้วย และในกรณีที่สถานศึกษาเห็นว่า ผู้ประเมินภายนอกเคยมีประเด็นกับสถานศึกษาหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest)กับสถานศึกษา ก็สามารถแจ้งมายัง สมศ. เพื่อขอเปลี่ยนแปลงผู้ประเมินภายนอกได้และ สมศ.จะปรับเปลี่ยนผู้ประเมินให้ตามหลักเกณฑ์ที่ สมศ.กำหนดไว้

“การประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ เดิม สมศ. กำหนดเป้าหมายอยู่ที่ประมาณ 4,220 แห่ง สำหรับโรงเรียนที่ครบรอบการประเมิน 5 ปี และโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน แต่ปรากฏว่ามีสถานศึกษาที่แจ้งความประสงค์ผ่านหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อขอรับการประเมินคุณภาพภายนอกเข้ามาถึง 5,134 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นราว 20% ครอบคลุมทั้งการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) การศึกษาขั้นพื้นฐาน และด้านการอาชีวศึกษา โดยมีกำหนดการประเมินแล้วเสร็จภายในกลางเดือนกันยายน 2567 เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไข หรือวางแผนการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษาและคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยในภาพรวม” ดร.นันทา กล่าว

ดร.มธุรส ประภาจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การประเมินครั้งนี้นี้ถือเป็นมิติใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดต่างๆ และ สมศ. โดย สพฐ.ได้มีส่วนร่วมทำเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกและพัฒนารูปแบบการประเมิน โดยได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ระดับนโยบาย ซึ่งในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการทำเกณฑ์หรือการประกาศมาตรฐานการประกันคุณภาพภายใน เห็นได้ชัดว่ากรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. นั้นเชื่อมโยงและสอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในที่สถานศึกษาทุกแห่งต้องทำอยู่แล้วจริงๆ ซึ่ง สพฐ. ได้พยายามชี้แจง สร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาให้ปรับเปลี่ยนมุมมอง เลิกมองว่าการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นภาระ เพราะสถานศึกษาไม่ต้องทำอะไรเพิ่มจากงานที่ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยดูว่างานที่ทำเป็นอย่างไร เปรียบเหมือนมีกระจกอีกบานมาช่วยสะท้อนให้สถานศึกษาเห็นภาพการทำงานของตนเอง

“หลังจากที่ สมศ. ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาไม่ใช่ประเมินเพื่อจับผิดหรือตัดสิน สถานศึกษาต่างๆ ก็ค่อยๆ ปรับมายด์เซ็ตที่มีต่อการประเมินคุณภาพภายนอก ส่งผลให้ทัศนคติของสถานศึกษาในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เริ่มเข้าใจและมองเห็นประโยชน์ของการประเมินคุณภาพภายนอกมากขึ้น ซึ่งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน โดย สมศ. เป็นกระจกคอยสะท้อนว่าอะไรที่ยังขาด สถานศึกษาคอยเป็นผู้เติม และเขตพื้นที่การศึกษา  เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนจะช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป” ดร.มธุรส กล่าว

นางสาวชลิดา ยุตราวรรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาปฐมวัยและศูนย์เด็กเล็กกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.มีโรงเรียนในสังกัดกว่า 1,700 แห่ง มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกกว่า 18,000 แห่ง รวมสถานศึกษาในสังกัด อปท. กว่า 19,000 แห่ง สำหรับการประเมินในรอบปัจจุบัน อปท. ได้มีการแจ้งไปยังสถานศึกษาที่ครบกำหนดเข้ารับการประเมิน และพบว่ามีสถานศึกษาที่สมัครใจและพร้อมเข้ารับการประเมินกว่า 80% จากจำนวนที่แจ้งไปซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่สถานศึกษาจำนวนมาก มองเห็นประโยชน์และความสำคัญของการประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งคาดว่ามาจาก 2 สาเหตุหลักๆ โดยสาเหตุแรกมาจากการที่ สมศ. ได้ใช้วิธีการประเมินรูปแบบใหม่ที่มุ่งลดภาระสถานศึกษา ไม่ต้องมีพิธีต้อนรับ เน้นประเมินเพื่อพัฒนาไม่ใช่ประเมินเพื่อจับผิดหรือตัดสิน อปท. จึงได้มีการสื่อสารให้สถานศึกษารับทราบ และให้เตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมิน อีกทั้งสถานศึกษาที่เคยเข้ารับการประเมินรูปแบบใหม่แล้วยังช่วยกันบอกปากต่อปากด้วยว่า สมศ. เปลี่ยนไปแล้ว สมศ. ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ทำให้สถานศึกษาผ่อนคลายความวิตกกังวล ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุ คือ ที่ผ่านมา สถานศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมักถูกมองว่ามาตรฐานและคุณภาพการศึกษาต่ำกว่าสถานศึกษาในสังกัดอื่น ทำให้ผู้ปกครองไม่ค่อยมั่นใจที่จะส่งลูกหลานมาเรียน จำนวนนักเรียนเข้าใหม่จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางสถานศึกษาจึงเล็งเห็นความจำเป็นและต้องการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก เนื่องจากเชื่อว่าหากได้รับการประเมินและรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่มีมาตรฐาน เป็นกลางและเชื่อถือได้อย่าง สมศ. จะทำให้ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจและไว้วางใจที่ส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาเล่าเรียนเพิ่มมากขึ้น

“อยากฝากถึงคุณครูและสถานศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต ทางเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมศ. หรือภาคีในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ต่างเป็นพี่เลี้ยงและเป็นกำลังใจให้กับสถานศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นท่านไม่ต้องวิตกกังวล ท่านสามารถสื่อสาร ขอคำแนะนำ หรือขอความช่วยเหลือเข้ามาที่ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคที่เป็นพี่เลี้ยงของท่านได้ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่เป็นพี่เลี้ยงและดูแลท่านมาโดยตลอด เพราะเราจะอยู่เคียงข้างท้องถิ่นและไม่ทิ้งกันแน่นอน” นางสาวชลิดา กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments