ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะดำเนินการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2560-2570 แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2575 และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยส่งเสริมให้มีการต่อยอดแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน พัฒนาศักยภาพและคุณลักษณะผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ และคิดแก้ปัญหา สามารถนำความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและคุณลักษณะต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนดังกล่าว มีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริฐวรกุล รมช.ศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรมต.ประจำกระทรวงศึกษาธิการ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพี้นฐาน(กพฐ.) และ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เป็นที่ปรึกษา และ มี  รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ในคณะกรรมการ กพฐ. เป็นประธาน นั้น

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการ ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพผู้เรียน ตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ที่อยากเห็นคุณภาพผู้เรียนเป็นที่ยอมรับของสังคม ให้เด็กได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคณะกรรมการจะมาดูว่ามีอะไรบ้างที่จะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้  ซึ่งวันนี้คณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน และคนในระบบการศึกษาพื้นฐาน รวมถึงอดีตเลขาธิการ กพฐ. ก็ได้มาฟังและให้ความเห็นเพื่อวางกรอบการทำงานร่วมกัน แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด เพราะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งต้องมีการตั้งคณะทำงานในแต่ละด้านก่อน วันนี้ที่ประชุมจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ไปสรุปข้อคิดเห็นของกรรมการและวางขอบข่ายงานมาเสนอในการประชุมนัดต่อไป

“จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ คือ เรื่องคุณภาพผู้เรียนที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม รมว.ศึกษาธิการ จึงเห็นว่า ควรมีการระดมความเห็นและรวบรวมข้อมูล รวมถึงองค์ความรู้ที่มีอยู่มาปรับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยจะยังไม่พูดถึงเรื่องการปรับหลักสูตร แต่จะพูดถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะถ้าพูดถึงหลักสูตรก็จะไปเรื่องการแก้หลักสูตร ก็จะติดล็อกเรื่องของหลักสูตรอิงมาตรฐาน กับ หลักสูตรฐานสมรรถนะ อีก เพราะฉะนั้นครั้งนี้จะเป็นการพูดถึงการนำองค์ความรู้ใหม่และแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษามาใช้”รศ.ดร.ศิริเดชกล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments