ที่ โรงเรียนพระนารายณ์ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(1 อำเภอ 1โรงเรียนคุณภาพ)ระหว่างวันที่ 13-14 ก.ค.2567 ระดับมัธยมศึกษา เพื่อสร้างครูต้นแบบในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา โดย นายศุภศิษฏ์ นุ่มฤทธิ์. ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)ลพบุรี กล่าวว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning  มีผลต่อความสนใจของผู้เรียนทุกกลุ่ม เด็กมีความสนใจอยากเรียนรู้ในทุกชั่วโมงมากขึ้นจะส่งผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงจะทำให้เด็กมีการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง

“ลพบุรี มีโรงเรียนคุณภาพระดับมัธยมศึกษาจำนวน 11 โรงเรียนประจำทุกอำเภอ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้โรงเรียนในอำเภอนั้น ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และในทุกเดือนจะมีการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อพบปะพูดคุยกัน(PLC)ในการส่งเสริมด้านวิชาการร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ สพม.ลพบุรี ยังอยากให้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และอยากให้ทุกโรงเรียนสอนแบบ Active Learning ทุกชั่วโมง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และอยากมาโรงเรียน เป็นการลดออกกลางคัน เพราะถ้าเด็กเรียนสนุกได้ทำกิจกรรม เด็กก็จะเรียนดี และเด็กก็อยากมาโรงเรียน ให้โรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองตามนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งเมื่อเด็กมีความสุข ครูมีความสุข ผู้บริหารมีความสุข ผมในฐานะ ผอ.สพม.ลพบุรี ก็จะมีความสุขไปด้วย”นายศุภศิษฏ์ กล่าว

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ก่อนอื่นก็ต้องขอชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาด้านการศึกษาของประเทศ ซึ่งจากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-net และ การประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA  ตลอด 29 ปีที่ผ่านมา ผลที่ออกมาน่าห่วงใยมาก แต่การมีนโยบายพลิกโฉมประเทศด้วยการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้จะสามารถแก้ไข ปัญหาที่ผ่านมาได้ และถ้าสามารถทำได้ภายใน 3 ปี เราจะเห็นว่าประเทศไทยมีเด็กที่เก่ง และครูที่เก่ง เพียงแต่ที่ผ่านมาวิธีการสอนของครูผิดซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าเราสอนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ ประเมิน วางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำ ตรวจสอบ แก้ปัญหา พัฒนา จนเกิดเป็นผลผลิตและต่อยอดผลผลิตให้สูงขึ้นเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุนขาย ขยายประโยชน์สู่สังคมมากขึ้นจนกลายเป็นนวัตกรรมได้ อันนี้คือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ค้นพบคือครูส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า หลักสูตรคือเนื้อหาวิชา ก็เลยนำเนื้อหากับไปป้อนให้เด็กและก็เพิ่มเนื้อหาเข้าไปอีกเพื่อให้เด็กจำเนื้อหาได้ตามที่หลักสูตรกำหนดกรอบของเนื้อหาเอาไว้ และก็มาสอบวัดผลว่าเด็กจำเนื้อหาได้ครบถ้วนหรือไม่ ดังนั้นการจำเนื้อหาแล้วมาสอบ เมื่อย้อนกลับมาถามเด็ก เมื่อเด็กสอบเสร็จเด็กบอกว่าจำไม่ได้แล้ว เป็นปีต่อปี ซึ่งเป็นสิ่งที่สูญเสียที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขอชื่นชมโรงเรียนต้นแบบที่กระทรวงศึกษาธิการคัดเลือกมา ทั้งผู้บริหารและครูให้ความสนใจที่จะร่วมกันพลิกโฉมการศึกษา 100% ซึ่งเชื่อว่าครูจะรู้ว่าการสร้างกิจกรรมผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แล้วเกิดนวัตกรรมเป็นเรื่องไม่ยาก  และเมื่อไปถึงเด็กจะง่ายขึ้นไปอีก เพราะครูจะใช้คำถาม เป็นตัวขับเคลื่อนผ่านกระบวนการ และผลที่เกิดคือนวัตกรรมที่สูงขึ้นหลากหลายขึ้น  เพราะเกิดจากกระบวนการที่ผู้เรียนเป็นคนสร้างความรู้ขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในครั้งนี้ก็คือการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง ซึ่งผู้เรียนจะสามารถนำเนื้อหาที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ไปเรียนได้ในทุกวิชารวมถึงใช้ในชีวิตประจำวันได้

นายวีระวัฒน์ วัฒนา ผู้อำนวยการโรงเรียนพระนารายณ์ กล่าวว่า โรงเรียนยึดแนวทางการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้นักเรียน เรียนอย่างมีความสุขในทุกชั่วโมง ครูจะแนะนำแหล่งเรียนรู้ ให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือทำจริงด้วยตัวเอง เด็กจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และการได้ลงมือทำ เพราะฉะนั้นผิดถูกครูกับนักเรียนก็จะเรียนรู้ไปพร้อมกัน ทั้งนี้สำหรับการเรียนรู้แบบ Active Learning ของโรงเรียนจะเน้นให้นักเรียนมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เพราะการพัฒนาคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์และเป็นไปตามที่สังคมต้องการ ไม่ใช่แค่พัฒนาสมองเท่านั้น ต้องมีเรื่องของคุณธรรมสุนทรียภาพด้วย ดังนั้นนอกเหนือจากวิชาการแล้วโรงเรียนจะเน้นให้นักเรียนได้เล่นดนตรี และกีฬาด้วย

ด้าน คุณครูสมทรง สวัสดี จากโรงเรียนโคกสำโรงวิทยา กล่าวว่า เนื่องจากทุกวันนี้การเรียนรู้มีการพัฒนารูปแบบไปมาก  การได้เข้ารับการอบรมครูต้นแบบครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เห็นวิธีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อกลับไปจัดกิจกรรมที่จะนำให้นักเรียนรู้จักการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ลงมือปฏิบัติ และสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นนวัตกรในอนาคต

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments