เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเดินทางสู่ย่างก้าวสำคัญบนเวทีระดับนานาชาติด้านการศึกษา  ภายหลังคณะมนตรี OECD (OECD Council) ซึ่งประกอบด้วย 38 ประเทศสมาชิก มีมติเอกฉันท์เห็นชอบเปิดการหารือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Discussion) ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการนโยบายการศึกษา (Education Policy Committee: EDPC) เป็นคณะกรรมการย่อยหนึ่งในคณะกรรมการ (Committee) หลายคณะของ OECD ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนโยบายการศึกษาของประเทศสมาชิก (OECD) และประเทศที่ได้รับเชิญ โดยกำหนดให้มีการประชุมเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนเมษายนและพฤศจิกายน ณ สำนักงานใหญ่ OECD ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่ผ่านมา ประเทศไทย(โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา) ได้ส่งคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ (Observer) ปีละ 2 ครั้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมระดับสูง (รัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงด้านการศึกษา) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับเชิญในการประชุมส่วนใหญ่ของ EPDC และ OECD มาอย่างต่อเนื่อง โดยจะสามารถเข้าร่วมได้เฉพาะประเทศหรือผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สาระสำคัญในการประชุม  EPDC แต่ละครั้ง นอกจากจะเน้นไปที่การรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับประเด็นนโยบายที่เป็นความสนใจและฉันทามติที่มีการหารือกันในการประชุมแต่ละครั้ง การกำกับติดตามการดำเนินงานและการใช้งบประมาณตามวาระปกติแล้ว ยังได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อประเด็นระดับโลก (Global Trend) ที่กำลังได้รับความสนใจและเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่แต่ละประเทศต้องเผชิญในบริบทที่ต่างกัน ส่งผลให้จากการประชุมทุกครั้ง ประเทศไทยได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ จัดทำ และพัฒนานโยบายการศึกษาของประเทศในระดับต่าง ๆ ให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติได้ ดังนั้น สภาการศึกษา เล็งเห็นว่า การเชื่อมโยงการพัฒนา/ปฏิรูปการศึกษากับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ จะช่วยกำหนดทิศทางและคาดการณ์แนวโน้มของการพัฒนาการศึกษาในอนาคตที่จะเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในแวดวงการศึกษา การปรับปรุงคุณภาพและความเท่าเทียมทางการศึกษาของโรงเรียน นโยบายการศึกษาเร่งด่วน รายงานผลการประชุมสุดยอดทักษะ และการศึกษาในอนาคต ทักษะแรงงานตามความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น

ดร.อรรถพล กล่าวว่า หากพิจารณาผลดีของการเข้าร่วมคณะกรรมการ EDPC  ซึ่งให้ความสำคัญกับนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ทักษะการเรียนรู้ (Learning Skills) และความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ตั้งต้นการศึกษาจากความสุขทั้งผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง เมื่อมีความสุขจะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น เมื่อการเรียนดีขึ้นจะส่งผลกลับไปทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) และการมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) และยังให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นประเด็นเร่งด่วน (Hot Issue) เช่น การเกิดขึ้นและการใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์ (Generative AI) ที่มีทั้งข้อดีที่เป็นประโยชน์และข้อเสียในเชิงจริยธรรม การรักษาความเป็นส่วนตัว และความมั่นคงทางไซเบอร์ สภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกเดือด ทักษะ แนวทาง และนิเวศการเรียนรู้แบบใหม่ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสนใจ ปรากฏในแผนและยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาประเทศฉบับต่าง ๆ

“นอกจากนี้ หากประเทศไทยตอบรับเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ EDPC จะส่งผลทำให้ประเทศไทยได้รับโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการศึกษาและการเรียนรู้  เกณฑ์การประเมินและการวัดระดับการศึกษาของประเทศ อาทิ การสอบ PISA ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับนานาชาติหนึ่งที่มีความสำคัญ สามารถแปลผลการประเมินที่นำไปสู่การเพิ่มคะแนน ตลอดจนช่วยในการแสวงหาแนวทางในการพัฒนาและเพิ่มคะแนนและทักษะที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มสูงขึ้น จนอยู่ในระดับที่พอรับได้ หรือสามารถเพิ่มโอกาสในการมุ่งสู่ระดับเดียวกับชาติสมาชิก OECD อันประกอบด้วยประเทศที่พัฒนาแล้ว จำนวน 21 ประเทศ ที่มีระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง เช่น ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น และการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ EDPC ก็เป็นหนึ่งในมาตรการขับเคลื่อนด้านการศึกษาที่ส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะช่วยให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสถานภาพของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูง” เลขาธิการสภาการศึกษากล่าวและว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะขอหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดและผลักดัน Roadmap กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก EDPC ซึ่งเป็นคณะกรรมการย่อยหนึ่งในคณะกรรมการ OECD ต่อไป อย่างไรก็ตามจะต้องมีการเสนอเรื่องการสมัครเข้าเป็นสมาชิก EDPC ให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคมนี้  และหากการสมัครเป็นสมาชิก EDPC แล้วเสร็จ ก็สามารถขับเคลื่อนบทบาทผู้นำทางการศึกษาของประเทศไทยในเวทีโลกได้ทันที

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments