เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน และสำคัญของรัฐบาล โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ระดมความร่วมมือกับตำรวจ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) หน่วยงานรัฐ ภาคประชาชนในพื้นที่ ด้วยกลยุทธ์ “ปลุก เปลี่ยน ปราบ” ทำการเอ็กซ์เรย์ในพื้นที่อย่างละเอียด แยกผู้เสพออกมาเพื่อให้ได้รับการบำบัด และขยายผลในการจับกุมผู้ขายเพื่อดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ซึ่งบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการจะอยู่ในกลยุทธ์ “ปลุก” คือ การปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหายาเสพติดร่วมกับภาครัฐ ป้องกันตั้งแต่ระดับเยาวชนผ่านหลักสูตรในสถาบันการศึกษา เร่งหาวิธีการสอดส่องดูแล ไม่ให้เยาวชนใช้ยาเสพติด และให้โรงเรียนร่วมกันปลูกฝังค่านิยมใหม่ “เด็กและเยาวชนต้องไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด” โดยสอดแทรกเรื่องโทษของยาเสพติดเข้าไปให้เด็กมีการรับรู้ในชีวิตประจำวัน เช่น การพูดหน้าเสาธงว่าเราจะห่างไกลจากยาเสพติด การให้ข้อมูลเชิงลึก เป็นต้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดสูง เนื่องจากเป็นวัยแห่งการเรียนรู้แต่ยังขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ รวมทั้งการเผชิญการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ศธ. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง จึงได้วางรากฐานการสร้างภูมิคุ้มกันในสถานศึกษาทุกระดับให้แข็งแกร่ง ผ่านกระบวนการการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับให้มีความรู้เท่าทันกับปัญหายาเสพติด ควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิตกิจกรรมทางเลือกเชิงสร้างสรรค์ เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนนักศึกษาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งการเสพและการค้าในทุกกรณี ส่วนปัจจัยที่ทำให้เด็กและเยาวชนเสพยาเสพติดนั้น สิ่งแรกเริ่มมาจาก “ความอยากรู้ อยากลอง” ต้องการประสบการณ์ใหม่ โดยเฉพาะสิ่งต้องห้าม รวมทั้งการให้ความสำคัญกับเพื่อน เพราะเป็นช่วงวัยที่เอาแต่ใจ ชอบตามใจเพื่อน เพื่อให้ตนเองมีสังคมและต้องการได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเนื่องจากถูกหลอกลวง อาจทำให้ได้รับสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยง เช่น อาศัยอยู่ในสถานที่แออัดแหล่งค้าขายยาเสพติด หรือประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจนต้องหันมาพึ่งยาเสพติด ตลอดจนการสร้างความเชื่อผิด ๆ ว่าการใช้ยาเสพติดจะทำให้มีความสุข
“ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของชาว ศธ. ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเข้มแข็ง สอดส่องดูแล ช่วยเหลือ ประคับประคอง เฝ้าระวังไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาแพร่ระบาดในสถานศึกษาชุมชนและครอบครัว จึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการจะสามารถพัฒนานักเรียน นักศึกษาให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา มีความรู้ความสามารถ คุณธรรมจริยธรรมสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นสุข ผ่านกระบวนการการศึกษาตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” พร้อมทั้งขอให้ทุกคนร่วมกันเป็นพลังสำคัญที่แข็งแกร่งในการสร้างภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมและชุมชนได้อย่างปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด ภายใต้แนวทางจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว