เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศรายชื่อโรงเรียน จำนวน 1,808 แห่ง เข้าโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ” และให้โรงเรียนประเมินตนเอง ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนนักเรียน ด้านผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านผู้เรียน นั้น ผลการประเมินตนเองของโรงเรียน ทั้ง 1,808 แห่ง ระบุว่า อยู่ในกลุ่มสีเขียว สถานศึกษาที่มีความพร้อม 5 ด้าน ควรได้รับการสนับสนุนและดำเนินการให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน จำนวน 1,062 โรงเรียน คิดเป็น 58.74%  , อยู่ในกลุ่มสีเหลือง สถานศึกษาที่มีความพร้อม 4 ด้าน ควรได้รับการสนับสนุนและพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้มีคุณภาพครบ 5 ด้าน จำนวน 678 โรงเรียน คิดเป็น 37.50% และอยู่ในกลุ่มสีแดง สถานศึกษาที่มีความพร้อม 0-3 ด้าน ควรได้รับการสนับสนุนและพัฒนาโดยเร็ว เพื่อให้มีคุณภาพครบ 5 ด้าน จำนวน 68 โรงเรียน คิดเป็น 3.67%  ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้มอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั้ง 245 เขต ลงพื้นที่ตรวจสอบว่าตรงตามที่โรงเรียนประเมินตนเองมาหรือไม่ และสรุปผลในภาพรวมว่าแต่ละเขตพื้นที่ฯ โรงเรียนในกลุ่มเป้าหมายแต่ละแห่งจะเน้นการพัฒนาในด้านใดบ้าง จากนั้น สพท.จะร่วมกับหน่วยงานในสังกัด สพฐ. ดำเนินการพัฒนายกระดับโรงเรียนจากกลุ่มสีแดง และกลุ่มสีเหลือง ให้เป็นกลุ่มสีเขียว

“สพฐ. มีแนวทางการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ จากกลุ่มสีแดง เป็น สีเขียว คือ 1.ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความแข็งแรง มีระบบสาธารณูปโภคพร้อมใช้ รวมถึงระบบความปลอดภัยที่ครบครัน 2.พัฒนาและอบรมผู้บริหาร ครู ให้มีความเชี่ยวชาญ มีมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพในการจัดการศึกษา มีความสามารถทางภาษาและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการให้เกิดคุณภาพ 3.มีโครงสร้างการบริหารและมีแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ชัดเจน และมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4.ต่อยอดนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลต่อความเป็นเลิศของผู้เรียน มีหลักสูตรสอดคล้องตามมาตรฐาน และตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลาง 5.ทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง มีความสามารถแข่งขันทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ส่วนการพัฒนาจากกลุ่มสีเหลือง เป็น สีเขียว มีแนวทาง ได้แก่ 1.ส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ 2.ยกระดับคุณภาพผู้บริหาร ครู ให้มีความเชี่ยวชาญสูง มีการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคล 3.เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษามีการขับเคลื่อนเสริมสร้างสถานศึกษาปลอดภัยและระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 4.สร้างและต่อยอดนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และ 5.จัดโครงการส่งเสริมพหุปัญญาให้ผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ โดย สพฐ.ตั้งเป้าหมายให้โรงเรียนปรับปรุง พัฒนา ส่งเสริมเติมเต็มในส่วนที่ขาด และปรับให้สอดคล้องตามบริบทพื้นที่ไม่เกินเดือนกันยายนนี้ ” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว สพฐ.จะมีการประกาศเป็นกลุ่มจังหวัดนำร่องโรงเรียนที่มีความพร้อมครบ 5 ด้าน และนำเสนอนวัตกรรมในการขับเคลื่อนโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” รวมถึงถอดบทเรียนการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพที่แสดงถึงความพร้อม 5 ด้าน เพื่อเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนคุณภาพที่กำลังพัฒนา และจะมีการพัฒนาต่อยอดให้เป็น กลุ่มสีฟ้า คือ สถานศึกษาที่มีความพร้อม 5 ด้านและเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากลระดับ SCQA และ เป็นกลุ่มสีม่วง คือ สถานศึกษาที่มีความพร้อม 5 ด้านและเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากลระดับ SCQA และผ่านเกณฑ์ประเมินเป็นระดับ OBECQA ซึ่งโรงเรียนในกลุ่มสีม่วง จะได้รับการยกย่อง ชื่นชม พร้อมประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะต่อไป ทั้งนี้ สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการดำเนินการพัฒนาโรงเรียนในกลุ่มเป้าหมาย ครบทั้ง 245 เขตพื้นที่การศึกษาแล้ว.

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments