เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 24/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และ ออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ได้มีการรายงานมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 25 มิถุนายน ซึ่งเห็นชอบปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เพื่อใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (นักเรียนทุน จ.ภ.) ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งผู้รับทุนจะเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานชดใช้ทุนหรือหน่วยงานของรัฐที่ผู้ให้ทุนกำหนด และรับเงินเดือนตามที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เท่าของเวลาที่ได้รับทุนตามสัญญา โดยหน่วยงานชดใช้ทุนให้หมายความรวมถึง ภาคอุตสาหกรรม สถาบันไทยโคเซ็น และหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เงื่อนไขการชดใช้ทุนฯ ทั้ง 2 ระยะ มีแนวทางเหมือนกันและขยายสถานที่การปฏิบัติงานรองรับนักเรียนทุนฯ เพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดประโยชน์ประเทศที่มีความต้องการกำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในภาคอุตสาหกรรม ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานแผนการเพิ่มคุณภาพการศึกษาในระยะยาว เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษาและยกระดับโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA โดยการยกระดับเป้าหมายการจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะ ซึ่งมีการจัดทำคู่มือการใช้ตัวชี้วัดฉบับปรับปรุง โดยแยกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ รวมถึงปรับเอกสารแนวทางการบริหารจัดการหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ก่อนนำไปทดลองใช้ในโรงเรียนของ สพฐ. 25 แห่ง ในภาคเรียนที่ 2/2567 นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ประธานอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เป็น ประธาน เพื่อดูแลเรื่องการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“จริง ๆ แล้วหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 มีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง โดยปรับครั้งล่าสุด เมื่อปี 2560 และจะมีการปรับอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณาว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อให้มีความทันสมัยหรือไม่ เพราะหากไม่เปลี่ยน คนก็อาจคิดว่า เป็นหลักสูตรโบราณ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพียงแต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนชื่อ แต่ทั้งหมดจะต้องไม่เพิ่มภาระให้ผู้เรียน”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า อีกประเด็นที่ที่ประชุมหารือ คือ แนวทางแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ไปสำรวจตัวเลขผู้ที่อายุเกินระดับการศึกษาภาคบังคับ ที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ว่ามีอยู่จำนวนเท่าไร เพื่อมาเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์ นอกจากนี้ มีการแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ว่า ศธ.ร่วมมือกับ SCB Protect ทำประกันอุบัติเหตุกลุ่มให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งรัฐและเอกชน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน- 27 กรกฎาคม 2567 มีผลคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ระยะเวลาคุ้มครอง 90 วัน โดยครูฯไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ส่วนต่างจังหวัดสามารถลงทะเบียนได้ที่ สกสค.จังหวัด