วันที่ 24 มิถุนายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องทำน้ำเย็น ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมี ดร.นิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักบริหารการมัธยมศึกษา สพฐ. นายประจวบ อินทรโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
.ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดเหตุในโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.กันตัง จ.ตรัง ที่มีนักเรียนได้ไปใช้เครื่องทำน้ำเย็นและถูกไฟฟ้าชอร์ตเนื่องจากไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดเหตุนักเรียนเสียชีวิต ซึ่งทาง สพฐ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจัดการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ได้มีข้อสั่งการให้ สพฐ. ดำเนินการตรวจสอบเครื่องทำน้ำเย็นในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีข้อกำหนดในการตรวจสอบ ดังนี้ 1) อายุการใช้งานของเครื่องทำน้ำเย็นที่ติดตั้งหมดอายุแล้วหรือไม่ หากหมดอายุให้งดใช้ทันทีเนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียน 2) ต้องใช้เครื่องทำน้ำเย็น ที่ได้มาตรฐานตาม มอก. 3) ต้องมีการติดตั้งระบบตัดไฟอัตโนมัติในเครื่องทำน้ำเย็นทุกเครื่อง โดยทาง สพฐ. จะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียนทุกโรงเรียน ให้ตรวจสอบอย่างเร่งด่วนที่สุด และหากตรงไหนยังไม่ปลอดภัยต้องให้งดใช้ และหาน้ำดื่มอื่นเข้ามาทดแทนก่อน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับเครื่องทำน้ำเย็นที่ไม่มีมาตรฐาน มอก. ต้องเปลี่ยนใหม่ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาช่วยตรวจสอบตั้งแต่ระบบการติดตั้ง และระบบไฟฟ้า โดยตัวอย่างของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยแห่งนี้ ตนถือว่าสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ เพราะทุกเครื่องมีระบบตัดไฟอัตโนมัติ หากเกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรเครื่อง Safety ที่ติดตั้งไว้ก็จะทำการตัดไฟก่อน ทำให้ไม่เกิดไฟฟ้าชอร์ต หรือไฟฟ้าลัดวงจร นอกจากนี้ จะต้องมีครูคอยดูแลตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอ เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องความปลอดภัยกับชีวิตนักเรียนรวมถึงครูและบุคลากรในโรงเรียน อีกทั้งอาจจะมีผู้ปกครองหรือพี่น้องประชาชนไปใช้ด้วย อาจจะเกิดอันตรายในวันข้างหน้าได้ ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง
.“วันนี้ผมมีโอกาสมาตรวจสอบที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ต้องชื่นชมว่าทางโรงเรียนสามารถจัดระบบทุกจุดที่ติดตั้งเครื่องทำน้ำเย็นเป็นเครื่องรุ่นใหม่ที่เป็นพลาสติกและมีระบบความปลอดภัยดีมาก ขอให้โรงเรียนอื่นๆ ได้ศึกษาเป็นตัวอย่าง และผมเชื่อว่าหลายโรงเรียนมีระบบที่ดีแบบนี้อยู่แล้ว จากนี้ขอฝากไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ขอให้ตรวจสอบ เช็กสภาพการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ อยู่เสมอ สำหรับโรงเรียนใดที่ยังไม่มีระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเป็นระบบเก่าที่หมดอายุแล้ว ขอให้เลิกใช้และรีบให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบโดยด่วนเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในโรงเรียนครับ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว