เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 ลงวันที่ 30 เมษายน 2567 สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งผลกระทบให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน 14 แห่ง ในสังกัด สอศ. ที่ดำเนินการเลี้ยงโคนม และผลิตอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ อีกทั้งฟาร์มโคนมและโรงงานแปรรูปผลิตของวิทยาลัยที่มีและสร้างขึ้นเพื่อการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนนักศึกษา และการฝึกอาชีพให้เกษตรกร ส่งผลกระทบให้ขาดแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาและเกษตรกรซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบทวิภาคี “การจัดโรงงานในโรงเรียน” นักเรียนนักศึกษา ขาดกิจกรรมการหารายได้ในระหว่างเรียน เงินบำรุงการศึกษาในการพัฒนาอาคารสถานที่ และกิจกรรมการเรียนการสอน และกระทบไปถึงการเลิกจ้างในส่วนต่าง ๆ เช่น พนักงาน ลูกจ้างชั่วคราว รถขนส่งนมโรงเรียน

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า จากประกาศดังกล่าว พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีข้อห่วงใยถึงวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ที่ได้รับผลกระทบและได้กำชับให้ สอศ.เร่งหาแนวทางดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา โดย สอศ. ได้เร่งประสานหาแนวทางเพื่อขอยกเว้นหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ทั้ง 14 แห่ง ที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ สามารถดำเนินงานต่อได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานงานอย่างเป็นทางการ โดย สอศ. ได้ทำหนังสือรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อลงนามในการขอยกเว้นหลักเกณฑ์ ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งประสานหารือในหน่วยงานระดับกรม ควบคู่กันไปด้วย

ซึ่งข้อความที่เกี่ยวข้องในประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีไม่สามารถดำเนินการตามโครงการฯ อยู่ที่ ข้อ 5.11 ความว่า “ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เป็นสหกรณ์/ส่วนราชการ ต้องมี ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและโคนม เป็นของตนเอง โดยมีแม่โครีดนมไม่น้อยกว่า 200 แม่ หรือมีโคนมที่สามารถผลิตปริมาณน้ำนมดิบไม่น้อยกว่า 3 ตันต่อวัน” ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานดังกล่าวทำให้เป็นข้อจำกัดของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่เคยเข้าร่วมโครงการมาแล้วตั้งแต่ต้น

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับงบประมาณก่อสร้างโรงงานแปรรูปนมและครุภัณฑ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 มูลค่า 280 ล้านบาท จำนวน 14 วิทยาลัย แต่ปัจจุบันมีจำนวน 10 วิทยาลัย ที่ได้ดำเนินการแปรรูปนมอยู่ และ 4 วิทยาลัยได้หยุดปรับปรุงโรงงานนมและปรับปรุงฟาร์มโคนม วิทยาลัยที่ดำเนินการอยู่มีฟาร์มเลี้ยงโคนมและโรงงานนมอยู่ภายในวิทยาลัย เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อกท.) ให้มีการเรียนรู้ด้านการปฏิบัติจริง (Learning by doing) และฝึกประกอบอาชีพ หารายได้ระหว่างเรียน มีนักเรียนนักศึกษาที่ฝึกปฏิบัติในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ (ทล.บ.) ฝึกอบรมเกษตรกรรมระยะสั้นและศึกษาดูงาน จำนวน 11,020 คน โดยมีกระบวนการผลิตแบบครบวงจร เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนนักศึกษาและเกษตรกร เช่น การเลี้ยงโคนม การดูแลสุขาภิบาล การจัดทำแปลงหญ้า การรีดนม การควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบที่ได้มาตรฐาน อย. และ GMP จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในการนำน้ำนมดิบเข้าสู่โรงงานแปรรูปนมของวิทยาลัย ตลอดถึงการจัดส่งนมไปยังโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งของวิทยาลัย ซึ่งในปี 2566 มีจำนวน 1,271 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนที่ได้รับนมของวิทยาลัย จำนวน 148,293 คน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments