เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานบูรณาการข้อเสนอ แนวทาง และแผนเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล ครั้งที่ 1/2567 โดยมี ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะทำงานจากหน่วยงานต่าง ๆ  ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม ณ ห้องสิปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx

ดร.อรรถพล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะทำงานบูรณาการข้อเสนอ แนวทาง และแผนเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล โดยคณะทำงานฯ แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาที่ 43/2567 เพื่อสอดรับกับนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาถึงด้านการปฏิรูปการศึกษาและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ในการนี้จึงแต่งตั้งคณะทำงานจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมกันเพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาต่อไป

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานได้รับทราบถึงสภาวการณ์ศึกษาไทย ไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2567 ชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทยและสภาวการณ์ศึกษาไทย ไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2567 สำหรับชุดทักษะที่จำเป็น คือ  ชุดทักษะที่คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษาเห็นชอบเสนอต่อคณะกรรมการสภาการศึกษา มีเนื้อหาประกอบด้วย (1) ชุดทักษะขั้นพื้นฐาน (Basics Skills) เช่น ความฉลาดรู้ การคำนวณ ความฉลาดรู้ทางด้านการเงิน เป็นต้น  และ (2) ชุดทักษะขั้นสูง (Advanced Skills Set) เช่น การสื่อสาร การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งชุดทักษะขั้นสูงมีน้ำหนักแตกต่างกันไปตามสาขาวิชาชีพที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันมีการนำร่องนำชุดทักษะดังกล่าวเข้าประยุกต์กับหลักสูตรของแต่ละสภานศึกษา  ตลอดจนการจัดกิจกรรมแฮกกาธอน (Hackathon)

สำหรับรายงานสภาวการณ์ศึกษาไทย ไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2567 เป็นรูปแบบการนำเสนอสภาวะการศึกษาที่มีความสดใหม่มากขึ้นกว่าเดิมจากการรายงานปีละหนึ่งครั้งสู่การรายงานในรูปแบบไตรมาส โดยมุ่งนำเสนอแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาหรือประเด็นร่วมสมัยที่สะท้อนสภาวะการศึกษาที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น ๆ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องผลการทดสอบ PISA บทเรียนจากโควิด 19 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และการประยุกต์ใช้ AI ในการวางแผนการศึกษา ซึ่งประเด็นร่วมสมัยเหล่านี้ถือเป็นสถานการณ์ด้านการศึกษาที่คณะทำงานควรรับทราบและจะเป็นประโยชน์ต่อการบูรณาการความคิดเพื่อปฏิรูปการศึกษาต่อไป

ดร.อรรถพล กล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา “กรอบแนวทางการบูรณาการข้อเสนอ แนวทาง และแผนเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล” โดบมีการทบทวนประเด็น/กิจกรรมในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ตลอดจนคำแถลงของคณะรัฐมนตรี ซึ่งพบข้อเสนอแนะสำคัญ ได้แก่ 1) การติดตามและประเมินผล 2) การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต 3) การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ต้องการให้เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดแผน  ทั้งนี้คณะทำงานได้ร่วมกันแสดงทัศนะต่อการบูรณาการแผนข้อเสนอ แนวทาง และแผนเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการยกตัวอย่างผลการวิจัยด้านการศึกษาตลอดจนแนวคิดทั้งที่เป็นข้อมูลจาก สกศ. และหน่วยงานอื่น ๆ มาอภิปราย เพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ มาใช้สังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่อการบูรณาการปฏิรูปการศึกษา มีการร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลว่าปัจจุบันคนไทย ทั้งเด็ก ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  ยังขาดทักษะใดและทักษะใดควรเป็นจุดเน้นเพื่อสามารถปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งการศึกษาได้ และยังมีอีกหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (Digital Intelligence) สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการทำจัดทำแผนการศึกษา ซึ่งทุกประเด็นจะถูกนำมาจัดระบบและนำมาประยุกต์ใช้ดำเนินงานต่อไป ถึงแม้ละบุคคลหรือองค์กรจะมีมุมมองแตกต่าง แต่สุดท้ายมีหมุดหมายและอุดมการณ์เดียวกันคือเพื่อบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาไทย

“ถือว่าการประชุมวันนี้เป็นนิมิตหมายอันดีต่อแวดวงการศึกษาไทยที่ได้มีคณะทำงานฯ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้มีความสามารถจากภาคส่วนต่างๆ มาจับมือร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูลทางการศึกษา ตลอดจนสังเคราะห์และให้ข้อเสนอแนะต่อการกำหนดนโยบายการศึกษาที่สำคัญของชาติเพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทยต่อไป”ดร.อรรถพลกล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments