เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ)แถลงข่าวภายหลังประชุมผู้บริหารศธ. ว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)ได้นำเสนอผลการประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ซึ่งมีความก้าวหน้าในการนำเอกสารชุด “พัฒนาความฉลาดรู้” ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สสวท. จัดทำขึ้น เพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวม 17 เล่ม ไปขยายผลในสถานศึกษาสังกัดต่าง ๆ โดยบูรณาการการเรียนการสอนร่วมกับรายวิชาพื้นฐาน รวมทั้งได้วางแผนการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ระยะที่ 2 ปีการศึกษา 2568 อาทิ กิจกรรมอบรมครู เพื่อสร้าง นักสร้างข้อสอบตามแนว PISA จำนวน 8 รุ่น รวม 960 คน ในช่วงเดือนตุลาคม 2567-พฤษภาคม 2568

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้ได้ภายในวันที่ 15 มิถุนายน และขอให้ดำเนินการด้วยความประหยัดและคุ้มค่า นอกจากนี้ยังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปสำรวจบ้านพักครู บุคลากรทางการศึกษา ว่ามีความพอเพียง หรือขาดแคลนและมีส่วนใดต้องปรับปรุง ซ่อมสร้างเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน สพฐ. ยังได้รายงานข้อมูลจำนวนเด็กที่ลดลง ส่งผลให้มีอาคารเรียนที่ว่างเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น อาจจะปรับมาเป็นที่พักสำหรับครูหรือนักเรียน พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังรายงาน กรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดให้ “การไหว้” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ.ได้ร่วมกันอนุรักษ์เอกลักษณ์ ถ่ายทอดสื่อสารให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลังได้รับรู้และสืบสานต่อไป

“สพฐ. ได้รายงานผลการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว14) สังกัด สพฐ. ปี 2567 ที่จัดสอบ เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า มีการช่วยเหลือผู้เข้าสอบ ซึ่งคลอดบุตรในสนามสอบได้เข้าสอบที่โรงพยายาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ไม่ให้มีใครต้องเสียสิทธิ แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำชับว่า ในการผ่อนผันต่าง ๆ ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการรั่วไหลของข้อสอบ ส่วนปัญหาข้อสอบผิดพลาดจำนวน 41 ข้อที่สนามมสอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นั้น ถือเป็นบทเรียนในการดำเนินงานให้หน่วยงานที่จัดสอบอื่นๆ เฝ้าระวัง และมาตรการป้องกัน ทั้งนี้ มธ. ก็มีศูนย์สอบที่มีความน่าเชื่อถือ ดำเนินการจัดสอบให้หน่วยงาน ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สอบเข้ารับราชการตำรวจ เพราะฉะนั้นการที่สพฐ. เลือกใช้มธ. เป็นศูนย์สอบ ก็ถือว่ามีความน่าเชื่อถือ อยากให้เชื่อมั่นในการดำเนินการ โดยพยายามทำให้รัดกุม บริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า ส่วนกรณีข้อสอบที่ผิดพลาด เป็นเรื่องที่ทางศูนย์สอบมธ. จะต้องชี้แจง แต่อยากให้มีความเชื่อมั่น โดยส่วนตัวไม่กังวลว่าจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น และหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริง ก็เป็นสิ่งที่ดี เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยศาล และจะได้พิสูจน์ให้ชัดเจน ว่ามีการดำเนินการที่รัดกุม โดยสถาบันที่ได้มาตรฐาน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments