เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้สภาเศรษฐกิจโลก (The World Economic Forum : WEF) ออกรายงาน เรื่อง “การสร้างตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันต้องให้ความสำคัญกับทักษะเป็นอันดับแรก (Putting Skills First : Opportunities for Building Efficient and Equitable Labour Markets 2024) โดยพบว่า ร้อยละ 60 ของธุรกิจทั่วโลกระบุว่าช่องว่างด้านทักษะในตลาดแรงงานในท้องถิ่นเป็นอุปสรรคสำคัญในการขัดขวางการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ขณะที่มีธุรกิจเพียง 39% เท่านั้นที่รายงานแนวโน้มเชิงบวกสำหรับความพร้อมของผู้มีความสามารถในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงเป็นการย้ำถึงความเร่งด่วนสำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่จะต้องปรับใช้แนวทางที่เน้นทักษะเป็นหลักเพื่อดึงดูด พัฒนา และรักษาผู้มีความสามารถ โดยมีตัวอย่างรูปธรรมจากการนำแนวทาง “skills-first” ไปใช้แล้วได้ผลจริง เช่น IBM SkillsBuild ได้เสนอการศึกษาฟรีที่มีมากกว่า 1,000 หลักสูตรและได้ดึงดูดผู้เรียนกว่า 7 ล้านคนตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งแสดงถึงการเพิ่มการเข้าถึงทักษะทางเทคโนโลยี และโปรแกรม My Career ของ London Stock Exchange Group แสดงให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกของการเคลื่อนย้ายภายในและความคิดริเริ่มในการพัฒนาทักษะต่อการรักษาผู้มีความสามารถ การประหยัดต้นทุน และการเติบโตขององค์กร เป็นต้น
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ WEF ยังได้ รายงานถึงแนวโน้มและการคาดการณ์ในอนาคตที่สำคัญ 2 สถานการณ์ด้วย ได้แก่ 1) คาดว่าทักษะที่จำเป็นจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 2) การเปลี่ยนแปลงสีเขียว (Green) และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจะสร้างความต้องการทักษะใหม่ๆ และการเตรียมตัวล่วงหน้าจะช่วยให้องค์กรและแรงงานปรับตัวได้ พร้อมกันนี้ได้เสนอแนะแก่ประเทศทั่วโลกว่า 1. ควรลงทุนในการพัฒนาทักษะ โดยจัดลำดับความสำคัญการลงทุนในโครงการริเริ่มการพัฒนาทักษะที่มุ่งเน้นการยกระดับทักษะและการเพิ่มทักษะ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของเศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มความสามารถในการผลิต นวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขัน 2.ส่งเสริมให้องค์กรส่งเสริมความโปร่งใสของทักษะโดยการกำหนดข้อกำหนดทักษะสำหรับบทบาทอย่างชัดเจน ให้ทุกคนในองค์กรได้มองเห็นช่องว่างของทักษะ และอำนวยความสะดวกในเส้นทางการพัฒนาทักษะและความก้าวหน้าในอาชีพ และ 3. ยอมรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายในองค์กรโดยส่งเสริมการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องและสร้างโอกาสให้ในการได้รับความสามารถใหม่ ๆ การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มการจ้างงานส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังขับเคลื่อนความคล่องตัวและการปรับตัวขององค์กรด้วย
“จากผลการศึกษาของ WEF ที่เน้นว่า การขาดแคลนทักษะเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและศักยภาพของบุคคลในการทำงาน และผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่า การลงทุนในทักษะของพนักงานและความก้าวหน้าในอาชีพสามารถนำไปสู่ตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน นับเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ถึงเวลาที่ไทยต้องลุยพัฒนาทักษะเป็นอันดับแรก เพราะไม่ใช่แค่พัฒนาและยกระดับการศึกษา แต่ส่งผลกระทบไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย”ดร.อรรถพลกล่าว