เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่หอประชุมคุรุสภา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างศธ. และ 13 ภาคีเครือข่ายทั้งส่วนราชการ สถาบันการเงินหน่วยงาน โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ  ผู้บริหาร ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและ ศธ. มีความห่วงใยอย่างมาก เนื่องจากมีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษา อันเป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิต และยังส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กนักเรียนและเยาวชน ตามโยบายของรัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ในภาพรวมทั้งประเทศเป็นวาระแห่งชาติ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ขอบคุณ 13 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่มาลงนามความร่วมมือ แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา ศธ. ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาลดความเดือดร้อน โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ทุกส่วนราชการในสังกัด แต่การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วย ศธ. เพียงหน่วยเดียว จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร ดังนั้นการที่ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ จึงเป็นการทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบเพื่อช่วยเหลือให้ครูได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี


“การแก้ปัญหาหนี้สินครูมีเป้าหมายเพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะหากครูมีความทุกข์จากการเป็นหนี้สิน ก็คงไม่มีความสุข ที่จะส่งเสริมการศึกษาให้เด็กและเยาวชนของเราเป็นคนดี คนเก่ง ซึ่ง 13 หน่วยงานที่มาลงนามครั้งนี้ก็คิดคล้ายๆ กันจึงมาร่วมมือแก้ปัญหา ซึ่งมีหลายคนบอกว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องยาก และคงเป็นไปไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่า ไม่มีสิ่งใดเกินความพยายามหากเราร่วมมือกัน การลงนามครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู อย่างเป็นรูปธรรม ครูและบุคลากรทางการศึกษามีสภาพคล่องในการชำระหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบ เพิ่มสภาพคล่องและความมั่นคงทางการเงิน และจัดสวัสดิการให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาตามหลักธรรมาภิบาล เช่น ส่งเสริมให้มีเงินกู้ข้าราชการดอกเบี้ยต่ำ และสอดคล้องกับศักยภาพ โดยให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐพิจารณาปรับปรุง/กำหนดหลักเกณฑ์ การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระ หนี้ประจำเดือนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในแนวทางเดียวกันกับระเบียบศธ. ว่าด้วย การหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ตลอดจนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการวางแผนทางการเงิน และการบริหารจัดการหนี้ ซึ่งทุกฝ่ายตกลงร่วมมือดำเนินงานในลักษณะโครงการและกิจกรรมในการ แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของศธ.” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว


ด้าน นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทั้งปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบ การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาลครั้งนี้ได้มีการกำหนดแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจน และเป็นการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน และไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก โดยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบ ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการปรับปรุง กำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือน เพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และให้สถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อสวัสดิการให้ต่ำลง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ต่ำ ที่ผ่านมาศธ. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้สินครู โดยได้จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับจังหวัด ระดับเขตพื้นที่การศึกษ และหน่วยงานทางการศึกษา จัดทำโปรแกรมออนไลน์ที่ชื่อว่า “ระบบแก้หนี้สพฐ. (debt obec)” สำหรับรับลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วม “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา พร้อมทั้งจะจัดเวทีสัมมนา “ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเข้าใจ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา” ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา หนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกมิติ ทั้งด้านสวัสดิการและประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และ บุคลากรในสังกัดทุกคนอย่างจริงจัง

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments