กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 38 ค (2) ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั่วประเทศ กว่า 200 คน นัดรวมตัวแต่งชุดดำ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 และขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฐานะประธานประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา( ก.ค.ศ.) รวมถึงจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา เพื่อขอให้ช่วยแก้ปัญหา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีระบบวิทยฐานะเหมือนกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่น ๆ แม้จะอยู่ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเดียวกัน แต่ได้กำหนดให้ 38 ค (2) ไปใช้ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)โดยอนุโลม ซึ่งทาง ก.พ.ไม่ได้กำหนดตำแหน่งและระดับขั้นต่างๆ ไว้ให้ด้วย พร้อมกับให้ใช้กรอบอัตรากำลังคนแทน จึงเกิดความลักลั่นขึ้น เพราะเมื่อใช้ พ.ร.บ.เดียวกัน ควรใช้ระบบเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เช่น ศึกษานิเทศก์ มีวิทยฐานะ สามารถเติบโตได้ด้วยผลงาน แต่เมื่อเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 38 ค (2) กลับถูกล็อกด้วยกรอบอัตรากำลัง นั้น
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว ว่า เบื้องต้น การสื่อสารมีความคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตามส่วนตัวเข้าใจว่า ทางบุคลากรมีข้อกังวลเรื่องความก้าวหน้า ซึ่งในหลายเรื่อง ศธ. พยายามปรับแก้ หากไม่ติดขัดในข้อกฎหมาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ
“ผมยินดีพบและพูดคุย แต่อยากให้ส่งตัวแทนเข้าพบ ไม่อยากให้มากันเยอะ ๆ เพราะจะเสียเวลาราชการ อีกทั้งอยากขอให้แต่งชุดปกติที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องแต่งดำ ชุดอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้ ในส่วนของปัญหาต่าง ๆ นั้น กระทรวงศึกษาธิการ รับทราบมาโดยตลอดและพยายามหาแนวทางแก้ไขในทุกเรื่องที่เสนอมา อะไรที่ทำได้ ก็ยินดีทำให้ ส่วนอะไรที่ทำไม่ได้ ก็จะได้อธิบาย เพราะอาจจะติดข้อจำกัดของหน่วยงานอื่นด้วย ผมเองเข้าใจว่า ภาระงานของกลุ่ม38 ค(2) หนักขึ้น ตั้งแต่จัดตั้งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) มีการโอนอัตรากำลังไปศธจ. ต่อมาได้คืนงานที่เคยให้ ศธจ.ดูแลกลับมาให้เขตพื้นที่ฯ แต่กลับไม่คืนกำลังคนให้ด้วย ทำให้เกิดปัญหา เพราะงานของเขตพื้นที่ฯเพิ่มขึ้น แต่กำลังคนที่ทำงานน้อย เรื่องนี้ทุกคนเห็นใจ ทุกคนทราบปัญหา และพร้อมช่วยแก้ไข” นายสุรศักดิ์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อว่า คุรุสภา จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่อง คุณสมบัติการของผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับแก้ระเบียบและข้อบังคับ ซึ่งเดิม กำหนดไว้ว่า จะต้องมีประสบการณ์บริหารสถานศึกษา มาเป็น มีประสบการณ์บริหารในหน่วยงานทางการศึกษา ซึ่งหมายรวมถึงเขตพื้นที่ฯ เพื่อเปิดกว้างให้บุคลากรทางการศึกษาในกลุ่ม 38ค(2) ที่มีประสบการณ์ และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาก่อน สามารถที่จะขอรับใบอนุญาตฯผู้บริหารสถานศึกษาและมีโอกาสไปสมัครสอบบรรจุเป็นผู้บริหารสถานศึกษาได้