เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ The Centre for Addiction and Mental Health (CAMH) ร่วมแถลงข่าวและเสวนาวิชาการ “ยกระดับความร่วมมือ” การตรวจติดตามเฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในผักและผลไม้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ภายใต้การดำเนินงาน “โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการทำงานหลายภาคส่วนที่มีประสิทธิผล ปฏิบัติได้และยั่งยืน เพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยวิธีการสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมโดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง”
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิจัยประจำโครงการฯ, นักวิทยาศาสตร์จาก The Centre for Addiction and Mental Health (CAMH) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า 1. ต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคมว่า “ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” หรือ NCDs เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในสังคม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมิติทางสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง และปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนั้นมาจากทั้งพฤติกรรมส่วนบุคคลและปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน จะผลักภาระไปที่กระทรวงหลักทางด้านสุขภาพ (กระทรวงสาธารณสุข) อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมมือกันหลายภาคส่วน 2. ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบข้อมูลการใช้สารเคมีในผัก ผลไม้ ในระดับประเทศ ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้เลยว่า ผัก ผลไม้ในมือ มีสารพิษตกค้างหรือไม่ หรือ ผัก ผลไม้เหล่านี้มาจากไหน “เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้ายังไม่รู้ว่าปัญหาเกิดขึ้นที่ตรงไหน นั่นจึงทำให้ระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ” ซึ่งในขณะนี้มีทิศทางในการดำเนินงาน “ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน” ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผ่านการเพิ่มพฤติกรรมเชิงบวกด้วยการเพิ่มปริมาณการบริโภคผักและผลไม้ที่สร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัย ให้แก่ผู้บริโภคด้วยความสบายใจ ซึ่งในขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะที่มาจากตัวแทนจากทางฝั่งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รศ. ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ นักวิชาการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การบริโภคผักและผลไม้ ช่วยป้องกันการเกิดโรค NCDs ขณะเดียวกันสารเคมีในผักผลไม้อาจส่งผลต่อการเกิดโรค NCDs ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การพัฒนาแนวทางการติดตั้งระบบเฝ้าระวังผัก/ผลไม้ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสแกนเส้นทางของการใช้สารเคมีในพืชผัก ผลไม้ จนถึงมือผู้บริโภค โดยคาดหวังให้เกิดกระบวนการการตามสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหากทำได้จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะเราจะสามารถรู้ต้นตอของปัญหาแล้วมีวิธีแก้ไขเพื่อเฝ้าระวังการใช้สารเคมี ให้ผู้บริโภคสามารถกินผักผลไม้ได้อย่างมั่นใจ
นางสาวก่อวดี ผลเกลี้ยง นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ กองควบคุมมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้แทนคณะทำงานจัดทำแผนบูรณาการการตรวจติดตามเฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในผักและผลไม้ กล่าวว่า มกอช. ในฐานะหน่วยงานกลางที่มีภารกิจด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร การรับรองระบบงานมาตรฐานสินค้าเกษตร การควบคุมและการส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร ตั้งแต่การผลิตเบื้องต้นระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนการเจรจาแก้ไขปัญหาทางการค้าเชิงเทคนิค เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งเพื่อให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการขับเคลื่อนงานมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยในสินค้าเกษตรและอาหาร โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ตลอดจนผลักดันให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยอาหารตลอดโซ่อาหาร ซึ่งปัจจุบันมีคณะทำงานจัดทำแผนบูรณาการการตรวจติดตามเฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในผักและผลไม้ของ 2 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุข
ภกญ. สุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะคณะทำงานจัดทำแผนบูรณาการการตรวจติดตามเฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในผักและผลไม้ กล่าวว่า มิติใหม่ของการยกระดับความร่วมมือการตรวจเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักผลไม้ตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำ (สำนักงานมาตราฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมวิชาการเกษตร) กลางน้ำ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) และปลายน้ำ (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ การดำเนินงานร่วมกันดังกล่าวอาศัยหลักการจัดลำดับความสำคัญความเสี่ยง (priority risk) ในการจัดทำแผนการตรวจติดตามเฝ้าระวังร่วมกัน เช่น พิจารณาจากประวัติและผลการตรวจพบสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ชนิดผักผลไม้ที่ผู้บริโภคนิยมบริโภคเป็นประจำ พื้นที่ตรวจสอบ เป็นต้น เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อน ประเด็นสำคัญในการดำเนินงานบูรณาการ คือ เมื่อพบปัญหาสารพิษตกค้างที่ผิดมาตรฐาน ต้องมีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งเพาะปลูกเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และการพัฒนาชุดทดสอบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทดสอบได้สะดวก รวดเร็ว และครอบคลุมชนิดผักผลไม้และสารพิษตกค้าง โดยผู้บริโภค พ่อค้า-แม่ค้า เจ้าหน้าที่และเครือข่ายผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ และสามารถทดสอบได้ด้วยตนเอง
ทิศทางการดำเนินการเชิงรุกดังกล่าว เป็นแนวทางหนึ่งของคณะทำงานจัดทำแผนบูรณาการการตรวจติดตามเฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในผัก ผลไม้ และพืชอาหารอื่น ภายใต้คณะอนุกรรมการการประเมินและจัดการความเสี่ยงความปลอดภัยอาหารและโรคที่เกิดจากอาหาร คณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วย 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (กระทรวงสาธารณสุข) มีบทบาทหน้าที่หลักในการจัดทำแผนบูรณาการการตรวจติดตามเฝ้าระวัง พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจเฝ้าระวังเพื่อจัดทำข้อเสนอการจัดการความเสี่ยง นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายังให้ความสำคัญกับการตรวจเฝ้าระวังการนำเข้าผักผลไม้ที่ด่านอาหารและยา ตามนโยบาย One Daan – One Lab – One Day และหลักการกักอาหารไว้เพื่อทำการทดสอบก่อน หากผลผ่านจึงตรวจปล่อย (Hold Test Release) รวมถึงการสื่อสารและให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในผักผลไม้ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยจากการบริโภคผักและผลไม้
นายโอฬาร พิทักษ์ ที่ปรึกษาสมาคมตลาดสดไทยและสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย กล่าวว่า ตลาดถือเป็นปลายน้ำก่อนที่ผักและผลไม้จะถึงมือผู้บริโภค การทราบแหล่งที่มาของผัก/ผลไม้ รวมถึงการตรวจสอบสารเคมีเป็นไปค่อนข้างยาก การแก้ไขจึงต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ กระบวนการที่จะทำให้อาหารปลอดภัยก็ต้องทำทั้งระบบ ผู้บริโภคต้องตื่นตัวในการเรื่องการบริโภคเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองให้ได้รับอาหารปลอดภัย ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรมีมาตรการเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ซึ่งหากมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานได้ จะทำให้เกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ค้าได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน
นายสมเกียรติ ลำพันแดง เจ้าของฟาร์มสมเกียรติ ผักอร่อย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ในฟาร์มของตนอยู่ภายใต้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งมีเกณฑ์และข้อกำหนดพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุม ให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม เพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยครอบคลุม 6 ประการ คือ 1. สุขลักษณะของสถานที่ตั้งและอาคารผลิต 2. เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต 3. การควบคุมกระบวนการผลิต 4. การสุขาภิบาล 5. การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด และ 6. บุคลากร ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์สมเกียรติ ผักอร่อย สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดหน้าถุง เพื่อดูว่าผักถุงนี้มาจากฟาร์มไหน ใครเป็นผู้ปลูก ได้มาตรฐานอะไรบ้าง ผ่านการรับรองจากกระทรวงใด โรงคัดบรรจุสะอาดปลอดภัยหรือไม่ ข้อมูลจะขึ้นให้ผู้บริโภคทราบได้ทันที ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตามสอบย้อนกลับในกรณีที่พบปัญหาอย่างมาก
ทั้งนี้ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวการขับเคลื่อนการตรวจติดตามเฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในผักและผลไม้ ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ที่ www.thainhf.org และ Facebook fan page มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ