เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ ห้องประชุมศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มีการเสวนาทางการศึกษา เรื่อง “ปฏิรูปการศึกษาด้วยการพลิกโฉมกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสนองตอบหลักสูตรการศึกษาชาติสู่มาตรฐานสากล” หัวข้อ “ประสิทธิภาพประสิทธิผลในการบริหารจัดการศึกษาให้เด็กไทยทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก” โดยมีนายเสน่ห์ ขาวโต อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ ดร.ศักดิ์สิน โรจนสราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว) กล่าวว่า จากการติดตามผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต 17 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2549- 2566) พบว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในทุกการทดสอบต่ำกว่าร้อยละ 50 เป็นเวลา 15 ปีคิดเป็นร้อยละ 88 มีเพียง ในปี 2551 ที่วิชาวิทยาศาสตร์มีคะแนนร้อยละ 51.68 และในปี 2554 วิชาคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 52.04 ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 50 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังพบว่าวิชาคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 14.99 ในปี 2553 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเรายังไม่สามารถยกระดับคุณภาพผู้เรียนได้ ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการปรับหลักสูตรมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเอง ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ระดับความคิด รวบยอด ระดับหลักการ และนำหลักการไปเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้อื่นๆ ในทุกบริบทของชีวิต รวมถึงการนำไปใช้ ในการประกอบอาชีพในทุกอาชีพให้เกิดความก้าวหน้าเกิดคุณค่าในระดับนวัตกรรมได้ ซึ่งเป็นการพลิกโฉมประเทศเพื่อนำไปสู่การเพิ่มฐานความรู้ของสังคม แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือโรงเรียนจำนวนไม่น้อยยังจัดการเรียนรู้ในรูปแบบให้นักเรียนอ่านและท่องจำ แล้วสอบวัดจากสิ่งที่ครูบอก สิ่งที่ท่องจำ และคุ้นชินกับข้อสอบ แบบวัดความจำเท่านั้น ขณะที่ความรู้ที่ใช้ในการทดสอบโอเน็ต ผู้เรียนต้องเรียนรู้จากกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ที่มีกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ฝึกสังเกต รวบรวมข้อมูล จำแนก เปรียบเทียบจัดหมวดหมู่ คิดวิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญ เชื่อมโยงความรู้ สรุปความรู้-หลักการ ได้ฝึกสร้างและการเลือกทางเลือก รวมทั้งฝึกนำความรู้ไปสร้างงาน สร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning และเป็นหัวใจสำคัญของการคิดวิเคราะห์


“ปัญหาจริง ๆ คือ การที่เด็กจะไปทำข้อสอบได้เด็กจะต้องมีความรู้ด้านกระบวนการถึงจะไปตีความ วิเคราะห์ เปรียบเทียบเชื่อมโยงโจทย์ได้ แต่สิ่งที่เป็นอยู่คือเด็กนักเรียนไม่มีกระบวนการ โรงเรียนสอนให้เด็กท่องจำ จึงไปวิเคราะห์ข้อสอบไม่ได้ทั้งข้อสอบโอเน็ต และ พิซา อีกประเด็นคือ เราเน้นที่คะแนน ทำให้คิดว่า ความรู้คือเนื้อหา แต่จริง ๆ แล้ว ความรู้คือข้อมูลที่เด็กจะท่องเอาไปสอบเท่านั้น พอสอบเสร็จก็ลืมเพราะไม่ได้เกิดจากความเข้าใจ เพราะฉะนั้นเราต้องลดความสำคัญของคะแนนลง เอาผลผลิตของเด็กเป็นตัวตั้ง แล้วสร้างผลผลิตผ่านกระบวนการซึ่งเป็นแผนของความรู้ที่ไม่ติดกับเนื้อหาใด ๆ แต่สามารถนำไปใช้เรียนรู้ได้กับทุกศาสตร์ทุกวิชา และพัฒนาได้ทุกอาชีพ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กไม่มีกระบวนการ ทำให้ทำข้อสอบโอเน็ตไม่ได้ เพราะข้อสอบโอเน็ตเป็นข้อสอบที่ไม่ได้ถามตรง ๆ แต่เด็กต้องคิด วิเคราะห์โจทย์ได้ ถ้าเด็กมีกระบวนการผลคะแนนจะไม่ออกมาอย่างนี้แน่นอน”ดร.ศักดิ์สินกล่าว

ดร.วีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำคือการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลภายนอก ตนเห็นด้วยกับดร.ศักดิ์สิน ที่บอกว่าการแข่งขันบนเวทีโลกถ้าเรามีกระกระบวนการคิดขั้นสูงก็จะทำให้เดินหน้าไปได้ กระทรวงศึกษาธิการมีผู้นำระดับประเทศมาเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว เช่น นายทักษิณ ชินวัตร นายชวน หลักภัย หรือ นายวิจิตร ศรีสะอ้าน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะวัดว่าการศึกษาเดินหน้าหรือถอยหลัง เรามีการอบรมครูอย่างต่อเนื่อง แต่เราก็ไม่อาจไปบีบปากครูให้สอนเหมือนที่อบรมไปได้ ดังนั้นปัจจัยสำคัญของครู คืออุดมการณ์ จิตวิญญาณของความเป็นครู ทำอย่างไรที่จะมุ่งมั่นเสียสละโดยไม่มีใครบังคับ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราจะต้องสอนให้เด็กเรียนโดยผ่านกระบวนการตั้งแต่ปฐมวัย เด็กจะได้แยกแยะได้ว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก


ดร.สมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดการศึกษาจะต้องเอาความเป็นจริงมาเป็นตัวตั้ง เพราะเป็นการพัฒนาชีวิตของคนทั้งโลกซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติแล้วสามารถอธิบายได้ ก็ถือว่าการเรียนรู้บรรลุผล เราต้องหันกลับไปดูผลผลิตที่จบออกไป ถ้าไม่ดีก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่


นายสมเกียรติ จิตผ่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนโยธินบูรณะ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่เด็กทำคะแนนสอบโอเน็ต พิซาได้ไม่ดี เพราะไม่ได้เอาคะแนนไปใช้อะไร เด็กจึงไม่ได้ตั้งใจที่จะทำข้อสอบ เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกเลิกการสอบโอเน็ต ป.6 และ ม.3 โดยให้ถือเป็นสิทธิส่วนตัวของนักเรียนตามความสมัครใจ อย่างที่โรงเรียนเด็กก็สนใจสมัครสอบน้อยมาก ทำให้ภาพรวมของคะแนนออกมาค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามปัญหาของนักเรียนที่หลาย ๆ โรงเรียนรู้สึกเป็นห่วงและกังวลมาก คือ เรื่องของโรคซึมเศร้าซึ่งปัจจุบันมีเด็กเป็นกันมาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะต้องเรียนหนักและยังมีกิจกรรมอีก ซึ่งทุกโรงเรียนก็พยายามแก้ไขปัญหาและหาวิธีป้องกันเพื่อที่จะช่วยลดความเครียดให้เด็ก ๆ ได้เรียนอย่างมีความสุขตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


นางสาวนงกรานต์ บรรเจิดธีรกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม กล่าวว่า การที่คะแนนโอเน็ต หรือ พิซา น้อยอาจจะเป็นเพราะกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าเด็กจะมีทักษะการปฏิบัติหรือการดำรงชีวิตด้วยตนเอง อีกอย่างที่มีการยกเลิกการบังคับสอบโอเน็ตเพราะมีการพุ่งเป้าจัดติวเพื่อให้ได้คะแนนสูงเนื่องจากมีผลกับครูและโรงเรียนด้วย โดยเฉพาะผลต่อการจัดอันดับโรงเรียนหรือแม้กระทั่งการประเมินวิทยฐานะครู ทำให้ครูพุ่งเป้าว่าจะต้องติวเพื่อให้เด็กทำคะแนนให้ได้ โดยไม่ได้คิดว่าจะต้องสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เด็กเรียน แต่พอให้การสอบโอเน็ตเป็นภาคสมัครใจก็ทำให้ไม่ให้ความสำคัญกับการสอบโอเน็ต ทั้งที่กระบวนการนี้เป็นกระบวนที่ดีที่ทำให้ทราบถึงการจัดการศึกษาของประเทศว่าหลักสูตรของประเทศเป็นอย่างไร การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงอยากให้มีการหาจุดกลางว่า เมื่อการทดสอบยังมีประโยชน์จะทำอย่างไรให้ผู้สอนและผู้เรียนเห็นคุณค่าของการทดสอบที่ไม่ใช่เพียงแค่การจัดลำดับโรงเรียนเท่านั้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments