เมื่อเวลา 8.30 น. วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิด เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงาน Gen Z 4 ภาค “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ในโครงการป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า (Gen Z Gen Storng : เลือกไม่สูบ) จัดโดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผู้บริหาร ครู และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจาก 30 โรงเรียน ใน 14 จังหวัด เข้าร่วม ณ ห้องกิ่งเพชร โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ทั้งนี้รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทุกคน ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการรณรงค์ป้องกันต่าง ๆ เพื่อไม่ให้คนไทยทุกคนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งนอกจากจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งเสพติดอื่น ๆ ด้วย
“จากการนำเสนอของตัวแทนเยาวชน Gen Z ในโครงการป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่ ถือเป็นกิจกรรมที่ดี ที่มาร่วมกันรณรงค์ป้องกันการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มนักเรียนและในสถานศึกษา สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรี “ทำดี ทำได้ ทำทันที” โดยได้ฝากให้กลุ่ม Gen Z เป็นเหมือนฮีโร่ ไปเชิญชวนเพื่อน ๆ ช่วยกันรณรงค์ป้องกันการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยเริ่มจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด และให้คนมองเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่อันตรายและน่ารังเกลียด ควรต่อต้านการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในทุกที่ เพราะเป็นอันตรายต่อผู้สูบ ผู้ไม่ได้สูบ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการป้องกัน โดยการรณรงค์ให้ความรู้ถึงโทษ การผลิตสื่อเผยแพร่สร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง รวมถึงการป้องปราม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ให้เป็นเจ้าพนักงานดูแลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาต่อไป” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
วันเดียวกัน ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แถลงข่าวการประกาศจัดกิจกรรม “สัปดาห์แห่งการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก (31 พฤษภาคม) ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อสร้างความตระหนัก ให้ความรู้ในการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา เป็นเรื่องที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ รวมถึงว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มีความห่วงใยเด็กและเยาวชนในวัยเรียน เนื่องจากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ Global Youth Tobacco Survey : GYTS ปี พ.ศ. 2565 ของประเทศไทย ในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 13-15 ปี พบว่า เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.3 เท่า จึงได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาอย่างเข้มข้น ประกอบกับองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งในปี 2567 ได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์ คือ “บุหรี่ไฟฟ้า : หยุดโกหกได้แล้ว” หรือ Stop the lies โดยกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการป้องกัน ควบคุมการบริโภคยาสูบในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในสถานศึกษา ทั้งเชิงนโยบายและการดำเนินการสถานศึกษาปลอดบุหรี่ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ป้องกันมิให้เกิดผู้เสพยาสูบรายใหม่ และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบ ในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยการให้ความรู้ ตระหนักถึงภาวะเสพติดและพิษร้ายแรงของผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมทั้งจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบและผู้ที่เกี่ยวข้อง” ดร.ธีร์ กล่าวและว่า สพฐ. พร้อมขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว จึงได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้เน้นย้ำสถานศึกษาดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา โดยปฏิบัติตามแนวทางการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า กรณีพบผู้ครอบครองหรือเสพ หรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา และขอความร่วมมือการแก้ไขปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้ 1.จัดทำนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่เป็นลายลักษณ์อักษร ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่หลากหลาย 2.จัดตั้งคณะทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ สำรวจข้อมูลการสูบบุหรี่ในโรงเรียน 3.ติดเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่ให้เห็นชัดเจนบริเวณทางเข้าโรงเรียนทุกช่องทาง 4.วางแผนและกำหนดกิจกรรมสอดแทรกเรื่องบุหรี่ทั้งในและนอกหลักสูตร 5.ส่งเสริมกิจกรรมร่วมรณรงค์ให้นักเรียนป้องกันการสูบบุหรี่ทั้งในและนอกโรงเรียน และร่วมรณรงค์บ้านและชุมชนปลอดบุหรี่ 6.จัดเวรยามครูทั้งในและนอกโรงเรียนเพื่อเฝ้าระวังในสถานที่เปลี่ยวร่วมกับตำรวจ และเชิญผู้ปกครองนักเรียนมาพูดคุย 7.จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักร่วมกับชุมชน ผลักดันให้ผู้นำชุมชนมีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานชุมชนปลอดบุหรี่ พร้อมชี้แจงและขอความร่วมมือร้านค้าในชุมชนไม่ขายบุหรี่ให้กับนักเรียน
ดร.ธีร์ กล่าวต่อไปว่า พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้ประกาศ “สัปดาห์แห่งการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา” โดยขอให้สถานศึกษาในสังกัดจัดกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วันงดสูบบุหรี่โลก ตั้งแต่วันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567 โดยให้มีกิจกรรมรณรงค์เชิงสร้างสรรค์ เพิ่มองค์ความรู้ สร้างความตระหนักถึงภัยที่เกิดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เช่น จัดนิทรรศการ บอร์ดความรู้ วาดภาพระบายสี สุนทรพจน์ เป็นต้น เพื่อปลูกฝัง สร้างความตระหนักให้นักเรียนรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนในระยะยาว เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีความเข้มข้นของน้ำยามาก มีความถี่ในการสูบสูง ราคาถูกทำให้ปอกแหกเร็ว ดังนั้นการรณรงค์ครั้งนี้ก็เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย ปลอดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ให้เด็กทุกคน “เรียนดี มีความสุข” อย่างแท้จริง