เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประชุมมอบนโยบายคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) โดยมี นายเธียรชัย ณ นคร ประธานคณะกรรมกรรมการ สทศ. ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการ สทศ. คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสทศ. ผู้บริหารศธ. เข้าร่วม โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เหมือนเป็นการปฐมนิเทศ เพื่อวางแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยการทำงานอย่าพยายามทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว เพราะมีทั้งเรื่องที่รู้และไม่รู้ อยากให้ทุกคนเปิดโลกทัศน์เรียนรู้ในสิ่งที่ทำงาน อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ ตนอยากให้ทบทวนนโยบายที่เคยมอบไปแล้ว โดยขอให้ไปทบทวนวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ของสทศ. ว่ามีอะไรบ้าง โดยต้องคิดนอกกรอบจากสิ่งที่ทำมา ว่ามีอะไรบ้างที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การประสานงานระหว่างหน่วยทดสอบ ที่สามารถทำงานร่วมกับเอกชนได้ เป็นต้น

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันขอให้ไปดูที่มาของรายได้หรืองบประมาณด้วย เพราะทุกวันนี้ที่มาของรายได้ จะรอเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า งบประมาณมีค่อนข้างจำกัด ในการดำเนินการจัดทดสอบ ดังนั้นจึงอาจต้องไปดูความร่วมมือกับภาคเอกชน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีรายได้ ที่ต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR) เข้ามาร่วมดำเนินการพัฒนาการทดสอบ รวมถึงการทำวิจัยและพัฒนาด้วย และอาจจะต้องทำหนังสือถึงกรมกรมสรรพากร เพื่อขอพิจารณาลดหย่อนภาษีให้กับเอกชน ที่มีการบริจาคเงินเพื่อพัฒนาการศึกษาให้ได้เป็น 2 เท่า อย่างก็ตาม การประชุมครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะมาร่วมมือกันทำงาน เชื่อว่า สทศ.ยุคใหม่จะช่วยพัฒนาการศึกษา มีการทรานฟอร์ม สทศ. พัฒนากระบวนการทดสอบ นำกระบวนการวิจัยและพัฒนา บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อพัฒนาการทดสอบทางการศึกษา ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และจะนำผลการทดสอบไปพัฒนาการจัดการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น และอยากให้ทุกโรงเรียนที่มีการทำสอบนำผลการทดสอบไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ปรับปรุงการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพด้วย

นายเธียรชัย กล่าวว่า สทศ. ต้องปรับบทบาทการทำงานเพิ่มเติมจากภารกิจที่ดำเนินการอยู่ โดยตนได้ขอให้ สทศ. ไปวิเคราะห์การดำเนินการในแต่ละมิติ และการจัดทดสอบในสถานศึกษาแต่ละสังกัด ทั้งโรงเรียนสังกัดศธ. สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงมหาดไทย( มท.) เป็นต้น เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายการทำงานได้ตรงตามเป้าหมาย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments