เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารศธ. ว่า ที่ประชุมรายงานความคืบหน้าการยกระดับโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือPISA ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร สื่อ ต้นแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้และเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละช่วงวัย เน้นการวิเคราะห์ การแก้ปัญหา สามารถนำไปใช้ได้จริง การวิจัย วัดผลและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีระดับประเทศและระดับนานาชาติ การขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ เช่น สะเต็มศึกษา อบรมครูโค้ดดิ้ง พัฒนาผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ครูวิทยากรแกนนำ และครูเครือข่าย ตลอดจนส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ เช่น ทุนสนับสนุนการศึกษา โอลิมปิกวิชาการ การผลิตครู เป็นต้น โดย สสวท. ได้จัดหลักสูตรอบรมการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา รุ่นที่ 1 มีเป้าหมาย 21,985 คน ในสังกัด สพฐ. สช. สอศ. กทม. อว. สถ. (กรมส่งเสริมการปกตครองท้องถิ่น) และอื่น ๆ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เตรียมขยายแกนนำ ที่เป็นครู ศึกษานิเทศก์ พี่เลี้ยง และแกนนำ ระดับเขตพื้นที่ 1,400 คน ที่ผ่านหลักสูตร การอบรมการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา รุ่นที่ 1 (21 เม.ย. – 4 พ.ค. 67) สู่โรงเรีนนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ 9,214 แห่ง ครู 3 โดเมน 27,397 ราย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567-กันยายน 2568
รมว.ศึกษาธฺการ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ผลการอบรมยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร ตนจึงสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเน้นย้ำการจัดอบรมฯ PISA ให้ครบตามเป้าหมายภายในเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมจัดทำลิ้งข้อมูลให้แต่ละหน่วยงานสามารถติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษาในสังกัดได้ ส่วนสพฐ.ให้ไปดูความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละจุด เพื่อแก้ไขป้องกันและดำเนินการให้ครอบคลุมนักเรียนทุกกลุ่ม ตามเป้าหมายที่วางไว้ ภายในเดือนมีนาคม 2568 นอกจากนี้ที่ประชุม ยังรายงานเรื่องการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ซึ่งยังคงให้เป็นไปตามความสมัครใจ แต่จะนำผลการทดสอบ บันทึกในใบระเบียนแสดงผลการเรียน(ปพ.1) เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และการพิจารณารับเด็กเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เด็กคนไหนไม่สนใจสมัครสอบ ก็จะได้ระบุไว้ในใบปพ.1 หรือสมัครแล้ว แต่ไม่ไปสอบก็จะต้องระบุไว้ในใบปพ.1 เช่นกัน เพื่อเป็นเกณฑ์ในเรื่องความรับผิดชอบ เป็นข้อมูลให้สถานศึกษาต่าง ๆ ใช้พิจารณาดูแลเด็กต่อไป ส่วนแนวทางการดำเนินการ มอบหมายให้สพฐ.เป็นเจ้าภาพในการไปวิเคราะห์และพิจารณาทางวิชาการร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ว่าจำเป็นต้องบังคับหรือไม่ ก่อนเสนอให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)พิจารณาดำเนินการต่อไป
“รัฐมนตรีได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานถึงการดำเนินโครงการสุขาดี มีความสุข ของโรงเรียนในแต่ละสังกัด ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยฝากให้ครูมาใช้ร่วมกับนักเรียน เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การทะเลาะวิวาท ยาเสพติด พร้อมสรุปผลการดำเนินงานของสถานศึกษาทุกสังกัดของ ศธ. เพื่อหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงห้องสุขา บนพื้นฐานของความประหยัด เรียบง่าย แต่ถูกสุขลักษณะตามแนวทางของโครงการทั้ง 5ส ในส่วนของงบประมาณ ได้มอบหมายให้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ประชุมติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567 ศธ. เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าต่อที่ประชุมประสานภารกิจทุกสัปดาห์”พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวและว่า นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ยังรายงานตัวเลขนักเรียนออกกลางคัน ซึ่งพบว่า มีกว่า 20,000 ราย ที่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งมีอยู่หลายสาเหตุทั้ง เรื่องส่วนตัวและสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สพฐ.และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ต้องประสานการทำงาน ซึ่งคิดว่า ภายในวันที่ 10 มิถุนายน ที่จะต้องรายงานข้อมูลนักเรียนทั้งระบบ ซึ่งคาดว่าตัวเลขเด็กออกกลางคันจะค่อย ๆ ลดลง เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามช่วยแก้ปัญหาดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ยังรายงาน กรณี ศาล มีคำตัดสินกรณีอดีตผู้อำนวยการ สกสค.ทุจริตนำเงินกว่า 2,500 ล้านบาท ไปซื้อ “ตั๋วสัญญา” กับ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด เพื่อนำไปลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ไม่โปร่งใส โดยสั่งให้ บริษัท บิลเลี่ยนฯคืนเงิน 2,500 ล้านบาท โดยขณะนี้ตนก็ได้สั่งการให้สกสค.ไปยื่นบังคับคดีต่อศาล ตามขั้นตอนแล้ว