เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567  ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการเปิดภาคเรียนอย่างปลอดภัย สู่วิถีเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารภาคีเครือข่าย ตลอดจนคณะกรรมการดำเนินงานฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 5 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) ศธ. พร้อม พสน. เครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ร่วมกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ ผ่านระบบ Zoom meeting

ปลัด ศธ. กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญในการสร้างการรับรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่คุ้มครอง ดูแล ช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษาให้มีความประพฤติที่เหมาะสม ตลอดจนสามารถศึกษาเล่าเรียนได้อย่างมีความสุข จากรูปแบบกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในครั้งนี้ เป็นการส่งนิมิตหมายที่ดีเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชน ได้เกิดความมั่นใจว่าบุตรหลานจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ในการเดินทางไปศึกษาเล่าเรียน และมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องสอดส่องดูแล คุ้มครองป้องกันให้นักเรียนนักศึกษามีความประพฤติที่เหมาะสม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) ทุกคนทุกสังกัดที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จึงมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ประจำแล้ว ยังถือเป็นผู้เสียสละเวลา และนำความรู้ความสามารถมาช่วยเหลือดูแลเด็กและเยาวชน เพื่อให้กลับเข้าสู่กระบวนการเรียนอย่างปลอดภัยตลอดทั้งปีการศึกษา จากข่าวที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าภัยคุกคามสามารถส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาหลากหลายช่องทาง

เหตุการณ์เมื่อช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนพลิกคว่ำทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ดังนั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องให้ความสำคัญในการป้องกันและช่วยดูแล ทั้งการดูแลยานพาหนะ การให้ความรู้เกี่ยวกับกฎวินัยจราจรแก่ผู้รับผิดชอบการในการขับขี่ รวมถึงการดูแลนักเรียนที่เดินทางด้วยตัวเอง ให้ความรู้ในการปฏิบัติตามกฎจราจร การสวมหมวกนิรภัย เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกันในโรงเรียนหรือสถานศึกษาก็ต้องมีการดูแลอย่างเคร่งครัด อาทิ ความปลอดภัยจากการใช้เครื่องมือในการเรียน ความปลอดภัยจากอาคารสถานที่ และความปลอดภัยในการรับสารและการสื่อสารจากโลกออนไลน์

จะเห็นได้ว่าในช่วงปีการศึกษาที่ผ่านมา มีเด็กที่ถูกล่อลวงจากภัยทางออนไลน์ไซเบอร์ ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเพิ่มกระบวนการป้องกันและการเรียนรู้เพื่อการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น และอีกประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญคือ ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ศธ. เองก็มีการสั่งการให้กวดขันอย่างใกล้ชิด และกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้นักเรียนทุกคนของ ศธ. ปลอดภัยจากภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ

“พสน. ทุกคน ต้องใช้บทบาทหน้าที่รวมทั้งหัวใจเข้าไป “ปลูกฝัง ป้องกัน ป้องปราม” เพื่อดูแลนักเรียนและนักศึกษาให้มีความปลอดภัยทั้งทางกายและทางจิตใจ บรรลุเป้าหมายของนโยบายในภาพรวมที่กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ขอให้ร่วมกันขับเคลื่อน ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของ รมว.ศธ. “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นคนดี มีความปลอดภัย มีทักษะชีวิตพร้อมในโลกศตวรรษที่ 21 มีพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข สิ่งสำคัญที่สุดคือสามารถดำรงตนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป“

ในการนี้ ศูนย์เสมารักษ์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานกลางในการจัดดำเนินงานและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยมี พสน.ศธ. และเครือข่าย (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักเทศกิจ สำนักการศึกษา กรุงเทพฯ) ร่วมออกตรวจตรานักเรียน นักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมตามจุดเสี่ยง อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นจูรี่ รร.ศรีอยุธยาฯ รร.สันติราษฎร์วิทยาลัย ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ใต้สะพานพระราม 8 รร.วัดบวรมงคล ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และพื้นที่จุดล่อแหลมทั้งสถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments