หยอก หยอก วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 *** คอลัมน์ที่เอาความจริงมาหยอกกว่า 90% … วันนี้ ก็ยังต้องยกสุภาษิต “อย่าเอาไม้สั้นไปรันขี้” ที่มีความหมายว่า “เรื่องที่มีความเสี่ยงสูง ถ้าหากไม่ใช่หน้าที่ของเรา ก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะอาจจะทำให้ตัวเรานั้นเดือดร้อนได้” สุภาษิตนี้ก็ยังคงใช้ได้อีกนั่นแหละ เพราะเมื่อสัปดาห์ก่อน “เผือก” (ต้องขออภัยที่ต้องใช้คำไม่สุภาพ) ไปทำข่าว เขียนข่าว เขียนรายงาน โดยเฉพาะรายงานพิเศษ “ส่องเส้นทางพิมพ์หนังสือองค์การค้าฯ ใครคือตัวประกัน ใครคือผู้ได้รับผลประโยชน์” ซึ่งเป็นการเขียนกลาง ๆ จากประสบการณ์ที่ทำงานสื่อสายการศึกษากว่า 30 ปี เรื่องที่จะเขียนถึงนี้เป็นการเขียนจากความรู้สึกในฐานะสื่อมวลชน ที่มีต่อคนที่แนะนำตัวเองว่าเป็นทนายมา 30-40 ปี ว่าความมานับไม่ถ้วน และตอนนี้ยังมีฐานะเป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการองค์การค้า สกสค.หยอก หยอก ขอให้ผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายแนะนำหน่อยว่า สิ่งที่คนที่บอกว่าตัวเองเป็นทนายพูดออกมา เป็นการหมิ่นประมาทซึ่งหน้า ดูหมิ่นเหยียดหยามวิชาชีพสื่อมวลชนหรือไม่ … เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา องค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลาการทางการศึกษา(องค์การค้า ของ สกสค.)ได้เชิญตัวแทนจำหน่ายหนังสือแบบเรียนองค์การค้าฯ หรือ “เอเย่นต์” มาฟังปัญหาและเหตุผลว่า ทำไมปีนี้องค์การค้าฯถึงส่งหนังสือเรียนล่าช้า…พร้อมแจกเอกสารข่าวประกอบการชี้แจง รายละเอียด … แต่คำอธิบายที่ได้รับจากผู้บริหารองค์การค้าฯ ไม่ว่าจะเป็นรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้า ของ สกสค. รองผู้อำนวยการองค์การค้า ของ สกสค.และประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุองค์การค้า ของ สกสค. โดยเฉพาะประเด็นที่ประธานตรวจรับพัสดุฯให้ข่าวสื่อมวลชนบางฉบับว่า ได้ส่งปกหนังสือให้สำนักพิมพ์คู่กรณีตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2567 ครบตามจำนวน และสำนักพิมพ์ดังกล่าวก็ได้เซ็นรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว … ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็คิดว่า..เอ้ย..แบบนี้สำนักพิมพ์ฯที่เป็นคู่กรณีก็เข้ามาป่วน ไม่อยากพิมพ์หนังสือให้องค์การค้าฯจริง…นะสิ *** เลยได้สอบถามประธานตรวจรับพัสดุฯ เพื่อให้แน่ใจอีกครั้งว่า องค์การค้าของสกสค.ส่งปกหนังสือให้สำนักพิมพ์คู่กรณีครบวันไหน ซึ่งคำตอบที่ได้ คือ องค์การค้าของ สกสค.ส่งปกหนังสือให้สำนักพิมพ์คู่กรณีครบวันที่ 8 เมษายน 2567 แต่เกิดอะไรขึ้นไม่ทราบ คุณทนายที่ปรึกษาผู้อำนวยการองค์การค้าฯถึงกับจับไมค์แล้วตอบมาว่า “เรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นให้สื่อมวลชนมาถามหรอก…? (แกะเทปมาเขียนเลยนะ) อ่านแล้วช่วยบอกหน่อยว่า แบบนี้เป็นการหมิ่นประมาทซึ่งหน้า ดูหมิ่นเหยียดหยามวิชาชีพมั้ยคะ แปลว่าเราโง่..ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง เขาพูดอะไรมาก็เชื่อ ความคิดต่าง เป็นฝ่ายตรงข้าม…งั้นหรือ? *** ไหน ๆ ก็มาถึงตรงนี้แล้วอยากจะถามองค์การค้า ของ สกสค.เพื่อประดับความรู้ว่า ข่าวจากสื่อทีวีช่องหนึ่งที่ออกมาว่า องค์การค้า ของ สกสค.ได้ส่งเอกสาร 3 ฉบับ ไปถึงสำนักพิมพ์คู่กรณี 2 ฉบับลงวันที่เดียวกัน คือ วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 เรื่องแจ้งค่าปรับส่งหนังสือไม่ตรงกำหนดเวลา และบอกเลิกสัญญาจ้างบางส่วน จากนั้นวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 มีหนังสือให้โรงพิมพ์ปรับตั้งเครื่องไสสันทากาว…เรื่องนี้ถามได้มั้ยคะ เพราะดูแล้ว งงมาก … ตามหลักการแล้วทำได้ใช่มั้ย เพราะหนังสือที่ออกมาดูแล้วยังย้อนแย้งกันอยู่ อีกทั้งการยกเลิกสัญญาจ้างที่เหลือ 11 รายการ ประมาณ ล้านกว่าเล่มจะไม่กระทบเด็กนักเรียนใช่หรือเปล่า เพราะต้องจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุจะไม่ช้ากว่าเดิม…หรือ? … และแว่วมาว่า เร็ว ๆ นี้ข่าวว่าสำนักพิมพ์คู่กรณีจะยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เรื่องปกนอกต้องเคลือบลามิเนตด้าน และ SPOT UV เฉพาะจุด(Emboss)อีกนะ … บอกมาขนาดนี้แล้วโรงเรียนไหนยังรับหนังสือปกที่ไม่ได้เคลือบลามิเนตด้านก็ให้ระวังกันเด้อออ….*** ดูเหมือนคู่นี้จะตั้งป้อมรบกันแล้ว ฉนวนนี้น่าจะเกิดจากการประมูลงานเมื่อปีที่ผ่าน ๆ มา ใครจะอยู่ใครจะไปรอติดตาม…*** อ้อ ยังมีอีกประเด็น ที่องค์การค้า ของ สกสค.รับปากว่าจะส่งหนังสือปกสุดท้ายถึงมือเอเยนต์ ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เพื่อให้กระจายหนังสือต่อถึงมือเด็กทันเปิดเทอม ล่ะ สุดท้ายก็ไม่ทันจริง ๆ … หนักหน่อยนะคราวนี้ สำหรับ องค์การค้าฯ *** ปรับโหมดมาที่คำว่า “ดูแลนาย” จะพูดไปเรื่องนี้ไม่ผิดหรอก แต่ที่ผิดคือการแอบอ้าง “นาย” ไปรับผลประโยชน์ต่างหาก…จุ๊ จุ๊ จิ้งจก มันทัก ทำอะไรอย่าคิดว่าไม่มีใครรู้…นะจ๊ะ นะจ๊ะ เดี๋ยวนายจะเดือดร้อน *** ความหวังดีกลายเป็นดราม่าจนได้ สำหรับ บันทึกข้อความจากพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ เสมา 1 ที่ส่งไปถึงหัวหน้าส่วนราชการและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบบนักเรียน แต่ไม่ทราบเกิดอะไรขึ้น จู่ ๆ ก็มีข่าวที่เป็นการแปลงสารจากคำว่า “ยกเว้น หรือ ผ่อนผัน” กลายเป็น “ยกเลิก” ไปได้ งานนี้ ดราม่ามาเต็ม ๆ จนชาวกระทรวงศึกษาธิการต้องออกมาชี้แจง แก้ข่าวกันพัลวัน ย้ำแล้วย้ำอีก ว่า ผ่อนผัน ไม่ใช่ ยกเลิก .… แต่ประเด็นไม่ได้จบแค่ ยกเว้น ผ่อนผัน หรือ ยกเลิกแล้วสิ เพราะตอนนี้ถกกันไปถึงว่า จะมายกเว้นหรือผ่อนผันกันทำไม ในเมื่อรัฐก็จัดงบฯสนับสนุนค่าเครื่องแบบนักเรียน ตามโครงการเรียนฟรีอยู่แล้ว … พูดก็พูดเถอะ เงินที่รัฐสนันสนุนค่าเครื่องแบบนักเรียน (ระดับก่อนประถมศึกษา 325 บาท/คน/ปี ระดับประถมศึกษา 400 บาท/คน/ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 500 บาท/คน/ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 550 บาท/คน/ปี และ ระดับ ปวช. 1 – 3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 950 บาท/คน/ปี) จะพออะไร ถ้าต้องมีหลายชุด หลายเครื่องแบบ คนที่ไม่มีก็ไม่มีจริง ๆ การที่ เสมา 1 แนะแนวทางก็เพื่อช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง จะได้ไม่ต้องเครียด ไปเรียนกันอย่างมีความสุข ไม่ดีหรือ ? … แค่ถามเฉย ๆ ***
Subscribe
0 Comments
Oldest