เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศึกษาธิการ)แถลงเปิดตัวระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (School Capacity System : SCS)โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า  นโยบาย “เรียนดี มีความสุข”เป็นนโยบายหลักที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวมของ ศธ.โดยเฉพาะการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเวลาอยู่ในชั้นเรียนมากขึ้น สามารถจัดการเรียนการสอนโดยไม่ต้องกังวลในภาระงานด้านอื่น ๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนแนวทางในการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นความ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ และประหยัด” ทั้งนี้ จากแนวคิดดังกล่าวจึงได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ศึกษารูปแบบและแนวทางปฏิบัติในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน ทั้งการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลระหว่างส่วนราชการ และส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดการบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รมว.ศึกษาธิการ จากการศึกษารูปแบบดังกล่าว สำนักงานก.ค.ศ. คิดว่าระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (School Capacity System) (SCS) เป็นระบบที่ทำหน้าที่ดึงข้อมูลจากระบบบริหารทรัพยากรบุคคล (HRMS OBEC) และระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (DMC) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (DPA) ของสำนักงาน ก.ค.ศ. มาประมวลผลตามเงื่อนไขเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อำนวยความสะดวกให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ บริหารอัตรากำลังได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ เป็นไปตามมาตรฐานวิชาเอก และสามารถนำข้อมูลจากระบบ SCS ไปใช้ในการวางแผนบริหารอัตรากำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับภาระงานและบริบทของสถานศึกษา ถือเป็นจุดตั้งต้นในการแก้ปัญหาอัตรากำลังในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คืนครูสู่ห้องเรียนได้อย่างแท้จริง

ด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ระบบ SCS เป็นระบบที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงาน ซึ่งจะช่วยลดภาระงานที่ซ้ำซ้อน ประหยัดเวลา และลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนและประกอบการตัดสินใจ ทำให้กระบวนการบริหารจัดการอัตรากำลังในสถานศึกษาทำได้รวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ทั้งด้านการบริหารสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอน ช่วยให้สถานศึกษามีสภาพอัตรากำลังที่มีความเหมาะสมกับภาระงานตามสภาพบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะตำแหน่งครูที่จะมีข้อมูลรองรับความขาดแคลนวิชาเอกต่าง ๆ และถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่จะนำไปสู่การวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนเข้าสู่วิชาชีพครูในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศให้สูงขึ้นตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและยุทธศาสตร์ชาติได้ต่อไป

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments