เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความพร้อมในทุกด้านสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 นี้ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการลดภาระการประเมินของสถานศึกษา ตามแนวทาง 6ล ซึ่งมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ สามารถลดภาระครูได้ถึง 3 ด้าน จากผลการดำเนินงานของ สพฐ. ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าแนวทางการลดภาระครูของ สพฐ. สามารถทำได้จริงแบบ “ทำดี ทำได้ ทำทันที”

สำหรับการลดภาระการประเมินของสถานศึกษา ตามแนวทาง 6ล ประกอบด้วย 1.ลด/เลิกโครงการ/กิจกรรม/ตัวชี้วัดที่ซ้ำซ้อนและมีผลลัพธ์เดียวกัน 2.ลดปริมาณข้อมูลที่จัดเก็บ/ประเด็นที่ประเมิน 3.ลด/เลิกการเก็บข้อมูลซ้ำจากเขตพื้นที่/สถานศึกษา 4.ลด/เลิกการรายงานในรูปแบบกระดาษ/การเขียนด้วยลายมือ 5.ลด/เลิกการจัดเตรียมการเพื่อรองรับการติดตามและประเมิน และ 6.ลดความซ้ำซ้อน/ความถี่ของการติดตามประเมินผล โดยผลการดำเนินงานของ สพฐ. ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สามารถลดภาระครูได้ถึง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 ลดภาระการรายงาน/ประเมินตัวชี้วัด สพฐ. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากจำนวน 216 ประเด็น/ตัวชี้วัด ลดลงจำนวน 172 ประเด็น/ตัวชี้วัด คิดเป็นร้อยละ 79.63 เหลือเพียง 44 ประเด็น/ตัวชี้วัด เท่านั้น ด้านที่ 2 ลดภาระการรายงาน/ประเมินจากโครงการ/กิจกรรม/ภาระงานของสำนักส่วนกลาง ที่มีการเก็บข้อมูลรายงาน/ประเมินจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/สถานศึกษา จากจำนวน 164 โครงการ ลดลง 98 โครงการ นับเป็นกิจกรรม/ภาระงาน จำนวน 282 เรื่อง และด้านที่ 3 ลดภาระการนำเข้าข้อมูล/รายงานข้อมูลโครงการนอกแผนปฏิบัติการประจำปี 2567 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (e-MENSCR) ได้ถึงร้อยละ 100 โดยลดภาระการรายงานข้อมูลโครงการในระบบฯ จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีจำนวน 10,863 โครงการ เหลือเพียง 5,636 โครงการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และได้ลดภาระโดยยกเลิกการประเมินผลโครงการในระบบฯ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต ที่มีการดำเนินการกับสถานศึกษา ทั้งสิ้น 5,636 โครงการ

“สพฐ. พร้อมดำเนินการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามแนวทาง “OBEC Share Together ลดภาระครู มุ่งสู่องค์กรแห่งความสุข” เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายระยะเร่งด่วน (Quick Win) ของ สพฐ. ข้อ 4 ลดภาระการประเมินของสถานศึกษา ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักส่วนกลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา เป็นอย่างดี ในการเปิดภาคเรียนที่ 1/2567 นี้ ทาง สพฐ. ก็จะดำเนินการลดภาระครูตามแนวทาง 6ล ต่อไป เพื่อคืนเวลาให้ครูได้สอนนักเรียนอย่างเต็มที่ ให้นักเรียนในทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งครูและนักเรียน “เรียนดี มีความสุข” ไปด้วยกัน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments