เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมประชุมผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการรายงานตัวเลขการรับสมัครนักเรียน นักศึกษา สังกัด สอศ.ปีการศึกษา 2567  ในสถานศึกษาทั้งรัฐ และเอกชนกว่า 900 แห่ง ซึ่ง สอศ.ตั้งเป้าไว้ที่ 281,220 คน แบ่งเป็น รัฐ 209,841 คน และเอกชน 71,379 คน ปรากฎว่า มีผู้สมัครเรียนกว่า 160,000 คน ซึ่งรมว.ศึกษาธิการ ได้กำชับว่า หากยังไม่สามารถเปิดรับนักเรียน นักศึกษาได้ตามเป้า ก็ให้เปิดรับต่อเนื่องในภาคเรียนที่ 2 โดย สอศ.คาดการณ์ว่าตัวเลขถึงวันที่ 10 มิถุนายน น่าจะอยู่ที่ประมาณ 210,000 คน ซึ่งใกล้เคียงกับทุกปีแม้จะห่างจากเป้าหมายพอสมควร แต่ก็เข้าใจได้  เพราะมีหลายเหตุปัจจัย โดยบางรายอาจจะมีปัญหาเรื่องติด 0 , ร , มส. ก็ให้รับไว้ก่อน จากนั้นค่อยไปช่วยแก้ไขปัญหาให้เด็กภายหลัง เพื่อให้เด็กได้เรียนต่อเนื่อง เพราะสุดท้ายแล้วเด็กกลุ่มนี้ก็เป็นผู้มีคุณสมบัติในการเข้าเรียนอยู่แล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมความพร้อม เรื่อง จัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 สอศ. ได้ประกาศใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2567 เพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ และ โลกอาชีพในปัจจุบัน ซึ่งเนื่องจากเป็นหลักสูตรที่มีการปรับปรุงใหม่ จึงได้มีแนวทางให้สถานศึกษาสามารถเลือกใช้หนังสือเรียนที่ผ่านการตรวจประเมินคุณภาพตามหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน โดยประยุกต์ใช้เนื้อหาของหนังสือเรียนที่สอดคล้อง กับผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับรายวิชา จุดประสงค์รายวิชา สมรรถนะรายวิชา และคำอธิบายรายวิชาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2567 หรือจัดการเรียนรู้เพิ่มเติม โดยจัดทำสื่อประกอบการเรียนการสอนอื่น ๆ หรือสืบค้นข้อมูลที่ทันสมัยจากสื่อหรือหน่วยงานองค์กรที่น่าเชื่อถือ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ และกรณีหนังสือเรียนมีเนื้อหาไม่ครบถ้วนหรือบางสาขาวิชา เนื่องจากเป็นรายวิชาที่พัฒนาขึ้นใหม่ ให้ผู้สอนเลือกใช้ หนังสือเรียนหรือสร้างสื่อการสอนประกอบการจัดการเรียนรู้ตามความเหมาะสมโดยต้องมีเนื้อหาสอดคล้อง ครบถ้วนกับผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับรายวิชา จุดประสงค์รายวิชา สมรรถนะรายวิชา และคำอธิบายรายวิชา เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับรายวิชาให้ครบถ้วนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2567 จนกว่าจะมีหนังสือเรียนที่ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพสำหรับใช้จัดการเรียนการสอนในรายวิชาตามหลักสูตรดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)ได้มีการประกาศใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พ.ศ. 2567 ให้ใช้ในแนวทางเดียวกัน โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป

นายยศพล กล่าวต่อว่า สำหรับครูและผู้บริหาร ก็ถือว่ามีความพร้อม ซึ่งได้สั่งการให้ทำความเข้าใจ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามข้อสั่งการ ของ รมว.ศึกษาธิการ ในการดำเนินการตามโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างเรียบง่าย ประหยัด พอเพียง ลดความสิ้นเปลืองงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และไม่สร้างภาระแก่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น “โครงการสุขาดี มีความสุข” ไม่ต้องผูกผ้าประดับตกแต่งห้องสุขา กำชับในการเดินทางไปตรวจราชการของผู้บังคับบัญชา หรือการตรวจเยี่ยม ให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับการตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม ให้ดำเนินการอย่างเรียบง่าย ไม่สร้างภาระให้แก่ ผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น ไม่ต้องติดป้ายต้อนรับ ไม่มีของที่ระลึกหรือของฝาก และให้ควบคุม กำกับ ดูแล และมีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น ป้องกันปราบปรามไม่ให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ในการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา การสอบบรรจุ การแต่งตั้งโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษา การทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments