เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( กพฐ.) เปิดเผยถึงมาตรการเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษารองรับการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 ว่า เนื่องจากโรงเรียนทยอยเปิดเทอมมาตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม และจะเปิดครบ 100% ในวันที่พรุ่งนี้ (16 พฤษภาคม) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.) จึงได้มีหนังสือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมการรองรับภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเปิดเรียนทั้ง 4 ด้าน ได้แก่  ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์(Violence)  ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ(Accident)  ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ (Right) และ ภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ (Unhealthiness) โดย สพฐ.ได้เน้นย้ำเรื่องของแผนเผชิญเหตุเป็นสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาการประสานแผนอาจจะยังไม่ชัดทำให้บางเหตุการณ์อาจจะได้รับการแก้ไขหรือช่วยเหลือไม่ทันท่วงที ดังนั้นเรื่องของแผนเผชิญเหตุต้องชัดและพร้อมตลอดเวลา

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า  อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ เรื่องผลกระทบจาก โควิด-19 ในส่วนของการศึกษาก็ยังไม่จบ โดยเฉพาะเรื่องของ ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย หรือ learning loss เนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเด็กสามารถเรียนรู้ผ่านหลายระบบ ทั้งระบบออนดีมานด์ ออนไซต์ ออนแฮนด์ และออนไลน์  ซึ่งเด็กยังได้เล่นเกมในโทรศัพท์ไปพร้อม ๆ กัน ผลที่ตามมาคือ learning loss รุนแรงมาก ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหา learning loss ส่วนหนึ่ง คือ ต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบออนไซด์อย่างเข้มข้นต่อเนื่องใน 3 ทักษะให้แก่เด็ก คือ ทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี เพื่อดึงเด็กกลับเข้าร่องเดิม หมายความว่า ใครชอบทักษะวิชาการก็ให้เสริมเรื่องของทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ใครชอบทักษะอาชีพก็เสริมทักษะชีวิตและวิชาการ หรือใครชอบทักษะชีวิตก็เสริมวิชาการและทักษะอาชีพไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้เราต้องเร่งดำเนินการ เพราะถ้าช้าอาจจะเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดได้ เช่น กำลังคนที่จะเตรียมรับเศรษฐกิจหรือกรอบคิดของเด็กจะเปลี่ยนไป จะเห็นได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น  เด็กวัยรุ่นรวมกลุ่มฆ่าคนแก่ได้ แสดงว่าวิธีคิดเปลี่ยนแล้ว บางคนแค่มองหน้าโดยไม่รู้จักกันก็ฆ่ากันได้ ซึ่งอันนี้คืออาการหลุดร่องของผลที่มาจาก โควิด-19

“จริง ๆ แล้ว แผนเผชิญเหตุสำหรับภัยบางประเภทจำเป็นต้องมีองค์ความรู้พิเศษเฉพาะในการป้องกันและแก้ไขเมื่อเกิดเหตุ เช่นกรณีที่จังหวัดระยองก็กำลังให้ตรวจสอบนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ว่าต้องมีองค์ความรู้พิเศษเฉพาะอะไรบ้าง ทั้งกรณีไฟไหม้ เรื่องของสารเคมี หรือ สารพิษต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเรายังไม่สามารถประสานกับหน่วยงานเฉพาะได้ก็ต้องเตรียมการไว้ด้วย ที่ผ่านมาเราจะเน้นเรื่องของสึนามิ ซึ่งมีการอบรมไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่จะต้องเร่งอบรมให้มากขึ้น เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าวงแหวนแห่งไฟมีการขยับอาจจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น ส่วนทางภาคเหนือก็จะมีเรื่องของการเคลื่อนของแผ่นดิน ภูเขาถล่ม ที่ต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุที่ชัดเจนไว้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ หมวกกันน็อก บุหรี่ไฟฟ้า พนันออนไลน์ ที่ สพฐ.กำลังพยายามป้องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของพนันออนไลน์ที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก โดย สพฐ.ได้สั่งการให้มีการควบคุมและป้องกันอย่างเข้มงวดด้วย”ดร.ธีร์กล่าวและว่า ส่วนเรื่องการกลั่นแกล้งกันด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมที่รุนแรงหรือการบูลลี่นั้น ต้องยอมรับว่ามีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคตก็มีแน่นอน ซึ่งมีทั่วโลกไม่มีหมด เพราะฉะนั้นเราต้องเฝ้าระวังตลอดหยุดไม่ได้ ซึ่ง สพฐ.ก็ได้กำชับไปตลอดและคอยกระตุ้นเป็นระยะอยู่แล้ว รวมถึงเรื่องการทะเลาะวิวาทของนักเรียนตามจุดต่าง ๆ ก็ได้มีการประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อลงไปสกัดและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments