พูดถึง..เรื่องการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนและการจัดส่งหนังสือเรียนล่าช้าขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)นับว่าเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่องทุกปี และปีนี้น่าจะเป็นปีที่วิกฤติที่สุด และ ยังเป็นปีแรกที่ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ พรรคภูมิใจไทย ส่งมาคุมบังเหียนกระทรวงศึกษาธิการ  ได้ย้ำนักย้ำหนากับองค์การค้าฯว่าจะต้องดำเนินการพิมพ์หนังสือแบบเรียน และส่งหนังสือให้ถึงมือนักเรียนก่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งทางองค์การค้าฯก็รับปากและมีแนวโน้มออกมาดีจนเกือบจะวางใจแล้วเชียวว่าหนังสือแบบเรียนส่งทันแน่ ๆ เพราะได้กระจายพิมพ์หนังสือถึง 9 สำนักพิมพ์ แต่แล้วก็มีเรื่องให้ความคาดหวังที่จะส่งหนังสือเรียนถึงมือนักเรียนได้ก่อนเปิดภาคเรียนก็เป็นได้แค่…ฝัน

เมื่อ…บริษัท รุ่งศิลป์ การพิมพ์(1977)ที่รับจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 ขององค์การค้าฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอขยายเวลาส่งหนังสือแบบเรียนขององค์การค้าฯ พร้อมร้องขอความเป็นธรรม และขอให้ตรวจสอบกรณีตัวอย่างกระดาษที่องค์การค้าฯ มอบให้ไม่ตรงกับทีโออาร์ และกรณีปกหนังสือที่ส่งมาให้สำนักพิมพ์ฯเคลือบและเข้าเล่มไม่ครบตามจำนวน ซึ่งส่งผลให้สำนักพิมพ์ไม่สามารถพิมพ์หนังสือเรียนขององค์การค้าฯให้เสร็จ และส่งทันก่อนเปิดภาคเรียนได้

ทีนี้เรามาย้อนดูเส้นทางการพิมพ์หนังสือแบบเรียนขององค์การค้า ของ สกสค.กันดีกว่า

องค์การค้า ของ สกสค. เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีวิสัยทัศน์ ว่า องค์การค้าของ สกสค. ยุคใหม่ มุ่งมั่น พัฒนา ศักยภาพสูงสุดในการผลิตและจำหน่ายหนังสือ สื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาล และสนองตอบนโยบายทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้กลับมาเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของธุรกิจทางการศึกษาระดับประเทศ นั่นหมายความว่า องค์การค้า ของ สกสค.เป็นหน่วยงานหลักภายใต้กำกับของกระทรวงศึกษาธิการที่มีหน้าที่ในการผลิตและจำหน่ายหนังสือแบบเรียน และสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในยุคของตำราเสรีที่สำนักพิมพ์เอกชนต่าง ๆ สามารถเข้ามาสู่การแข่งขันในการผลิตและจำหน่ายหนังสือเรียนและสื่อการเรียนการสอนได้ องค์การค้าฯยิ่งต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานให้สามารถแข่งขันกับสำนักพิมพ์เอกชนให้ได้ในนามสำนักพิมพ์ของรัฐ

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะเป็นยุคของตำราเสรี แต่องค์การค้าฯก็ยังเป็นหน่วยงานที่ผูกขาดได้รับลิขสิทธิ์จัดพิมพ์หนังสือเรียน ฉบับกระทรวงศึกษาธิการ ทุกชั้นปี ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ดังนี้

1.1 หนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จัดทำต้นฉบับ โดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)1.2 หนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำต้นฉบับ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)1.3 หนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จัดทำต้นฉบับ โดย สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1.4 หนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (สาระศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม  สาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม  สาระเศรษฐศาสตร์  สาระประวัติศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์) จัดทำต้นฉบับ โดย กลุ่มพัฒนาสื่อการเรียนรู้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1.5 หนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา จัดทำต้นฉบับ โดยกลุ่มพัฒนาสื่อการเรียนรู้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1.6 หนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ จัดทำต้นฉบับ โดยกลุ่มพัฒนาสื่อการเรียนรู้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1.7 หนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) จัดทำต้นฉบับ โดยองค์การค้าของ สกสค.  และจัดพิมพ์หนังสือเรียนภาษาอังกฤษจำหน่ายเอง และ 1.8 หนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงาน ไม่มีฉบับกระทรวง แต่มีฉบับของสำนักพิมพ์เอกชนประมาณ 150 กว่ารายการ

อย่างไรก็ตาม ในอดีต ก่อน ปี พ.ศ.2560 มีกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำหนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีร่วมกับองค์การค้าของสกสค. เมื่อมีการปรับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2560 ก็ได้แยกสาระเทคโนโลยี

รวมอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี จึงเปลี่ยนเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ หนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ ฉบับกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่มี นับแต่นั้นเป็นต้นมา แต่มีหนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ ฉบับของสำนักพิมพ์เอกชนประมาณ 150 กว่ารายการ ให้นักเรียนได้เลือกใช้

โดย สำนักพิมพ์ของเอกชนที่จดทะเบียนเป็นผู้ผลิตสื่อการเรียนรู้กับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สวก.สพฐ.) ก็สามารถจัดพิมพ์จำหน่ายหนังสือเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ทุกชั้น ให้สถานศึกษาเลือกใช้ได้ตามนโยบายสื่อเสรี

แต่องค์การค้าฯจะได้เปรียบกว่าสำนักพิมพ์เอกชน เพราะได้ลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ เหตุผลก็ คือ ตั้งแต่อดีตสมัยกรมวิชาการ (เดิม) กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้องค์การค้าฯได้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือเรียน ฉบับกระทรวงศึกษาธิการ ทุกวิชามาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน ที่เป็นสื่อเสรี เพราะมีการ MOU ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กับ องค์การค้าฯสกสค.ด้วยเหตุผลว่า เนื่องจากองค์การค้าของสกสค. เดิม เป็นร้านจำหน่ายแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา100 ปีแล้ว คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467  (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6) และพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 ให้ใช้ชื่อว่า องค์การค้าของคุรุสภา

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดให้โอนสังกัดขององค์การค้าของคุรุสภาไปขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิการ สวัสดิภาพ และส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหนึ่งในบทบาทภารกิจในการส่งเสริมการจัดการศึกษาของกระทรวงที่เคยดำเนินงานมา คือ การจัดจำหน่ายแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  หน่วยงานราชการอื่นๆ ก็มีโรงพิมพ์ในหน่วยงานเพื่อตอบสนองความต้องการงานพิมพ์ของหน่วยงานนั้น ๆ เช่น โรงพิมพ์ตำรวจ โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โรงพิมพ์ธรรมศาสตร์ โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โรงพิมพ์ธนบัตร เป็นต้น

ที่สำคัญตอนนี้ คือ เนื่องจากสถานะขององค์การค้าไม่มีความมั่นคง ขาดสภาพคล่องสะสมมาอย่างยาวนาน วิธีการนี้จึงเป็นวิธีที่จะช่วยเหลือองค์การค้าฯ ให้เดินหน้าต่อไปได้  แต่เนื่องจากลิขสิทธิ์การพิมพ์หนังสือที่องค์การค้าฯได้รับนั้น เป็นหนังสือจำนวนมาก ทำให้องค์การค้าฯไม่สามารถจัดพิมพ์ด้วยตัวเองและส่งได้ทันถึงมือนักเรียนได้ตามกำหนดก่อนเปิดเทอมในทุก ๆ ปี จึงจำเป็นต้องจ้างสำนักพิมพ์เอกชนให้มาช่วยพิมพ์

จะเห็นได้จาก ปีการศึกษา 2561 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนเหมือนเป็นปกติ คือ องค์การค้าฯส่งมอบหนังสือให้โรงเรียนไม่ทันเวลาเปิดเรียน ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อการเรียนการสอนทั่วประเทศ บอร์ด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี( สสวท.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 จึงมีมติให้กระจายความเสี่ยงและลดสัดส่วนสิทธิ์ในการพิมพ์หนังสือแบบเรียนสาระวิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ สสวท. ปีการศึกษา 2562 การพิมพ์หนังสือเรียนขององค์การค้าฯจึงลดลง เหลือ 70% ของต้นฉบับทั้งหมด พร้อมให้องค์การค้าฯวางแผนการดำเนินการให้รัดกุมไม่ให้การผลิตหนังสือล่าช้าอีก ส่วนอีก 30% ให้สิทธิ์สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้จัดพิมพ์ ซึ่งปัญหาการส่งหนังสือไม่ทันในส่วนของสำนักพิมพ์จุฬาฯก็หมดไป ต่อมาในปี 2563 องค์การค้าฯยังคงขาดสภาพคล่อง และมีภาระหนี้สินมากมาย จนต้องเอ่ยปากขอโควตาพิมพ์หนังสือแบบเรียน สสวท.กลับมาพิมพ์เองทั้งหมด ซึ่งเวลานั้นทางสำนักพิมพ์จุฬาฯก็เข้าใจสถานการณ์ยอมคืนโควตาการพิมพ์ให้องค์การค้าฯจนถึงปัจจุบัน

และจนถึงวันนี้ใกล้เปิดเทอมใหม่ปีการศึกษา 2567 แล้ว แต่ดูเหมือนปัญหาขององค์การค้าฯจะแก้ไม่จบ ไหนจะถูกสำนักพิมพ์เอชนฟ้องร้องในหลายประเด็น ทำให้โอกาสที่จะพิมพ์หนังสือไม่ทันส่งถึงโรงเรียนก่อนเปิดเทอมดูเหมือนทางข้างหน้าจะริบหรี่ ถ้าไม่ทันจริง ๆ เด็ก ๆ คงเสียประโยชน์แน่นอน น่าเสียดายอุตส่าห์เตรียมการมาอย่างดี สุดท้ายก็ต้องมาลุ้นอีกแล้วว่าหนังสือจะถึงมือเด็กก่อนเปิดเทอมหรือไม่

ขอปิดท้ายกับคำสัมภาษณ์ ศ.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ อดีตผู้อำนวยการ สสวท. สักหน่อย โดย ศ.ชูกิจ ได้พูดไว้ให้คิดว่า ครั้งหนึ่งสมัยที่เป็น ผอ.สสวท. เคยมีความคิดว่า สสวท.น่าจะไม่ต้องผูกขาดให้แต่องค์การค้าฯ หรือ สำนักพิมพ์จุฬาฯเป็นคนพิมพ์หนังสือ แต่อยากเปิดสัมปทานให้สำนักพิมพ์ไหนก็ได้ที่อยากพิมพ์มาเอาต้นฉบับไปพิมพ์เลย ซึ่งถ้ารัฐมนตรีเห็นชอบก็ทำได้เลย เพราะ สสวท.ก็ได้ค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ต้นฉบับตามที่ สพฐ.กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาหนังสือตามหน้าปกอยู่แล้ว ดังนั้นให้ใครไปพิมพ์ก็ไม่ต่างกัน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments