เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ และทักษะการวางแผนทางการเงินและการออม โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ.ในฐานะเลขานุการคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีปัญหาหนี้สินและต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเข้าร่วม โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาหนี้สินครู คนที่เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ ถือว่า เป็นผู้ที่รู้ตัวว่าตัวเองมีอาการป่วยทางการเงิน เป็นเหมือนตัวแทนที่จะเข้ามาเรียนรู้ แนวทางการแก้ไขปัญหา กับผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ครอบครัวเคยล้มละลาย แต่สามารถแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น
“ผมในฐานะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนก็มีความห่วงใย ทั้งข้าราชการประจำ หรือข้าราชการบำนาญ ที่มีปัญหาทางการเงิน เราจะทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้ อยากให้กลุ่มตัวแทนที่เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ ตั้งใจฟังและคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองว่า จะนำแนวทางที่ได้ศึกษาเรียนรู้ในครั้งนี้ไปปรับใช้กับการแก้ปัญหาของตัวเองอย่างไร เพื่อให้กลับมาเป็นคนที่มีสภาพคล่อง สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีวินัยทางการเงิน และตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ทั้ง 84 รายถือว่ามีเจตนารมณ์ ในการแก้ไขปัญหา โดยสิ่งหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขได้ คือ การต้องรู้ข้อเท็จจริงของปัญหา เปิดใจกับผู้เชี่ยวชาญ หากสามารถแก้ปัญหาได้ ก็จะกลายเป็นโมเดลหรือกรณีศึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาอีกหลายแสนคนต่อไป ”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
ด้าน ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการลดภาระครูตามนโยบายของรมว.ศึกษาธิการ ในด้านการลดภาระหนี้สินครู โดยมีการอบรมให้ความรู้และทักษะการวางแผนทางการเงินและการออม แก่ครูและบุคลากรฯ 2 กลุ่มคือ กลุ่มคนที่เป็นหนี้ และกลุ่มที่เป็นโค้ช กลุ่มละ 84 ราย รวม 168 ราย จากนั้นจะให้คนกลุ่มนี้เป็นแม่ไก่ ขยายผลกับครูและบุคลากรฯอีกกว่า 490 ราย ให้เป็นเหมือนทีมกลางช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เจรจา ลดดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง และอีกส่วนหนึ่งก็จะมีการเพิ่มรายได้ ตามบริบทของพื้นที่ ทั้งการทำให้มีวิทยฐานะ โดยหลักคิดของ รมว.ศึกษาธิการ คือ จะต้องทำให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้ครูมีเวลาโฟกัสกับงานอย่างเต็มที่ ทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข
“จากที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก มีปัญหาสภาพคล่อง เงินเดือนเหลือไม่ถึงร้อยละ30 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ กว่า 100 แห่ง โดยในจำนวนนี้มี 13 แห่งที่มีประธานเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ อีก 10 แห่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งตรงนี้ทำให้การแก้ไขปัญหานี้สินครูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่คนที่เป็นประธาน คือ ข้าราชการเกษียณ และจากการหารือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ยอมที่จะช่วยลดดอกเบี้ยให้ ก็จะเป็นการลดดอกเบี้ยแบบมีแผน เพื่อให้สหกรณ์อยู่ได้และลูกหนี้ก็อยู่ได้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่น้อยสุดขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.5 มากที่สุดอยู่ที่ ร้อยละ 9.1 โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างจัดทำแผนลดอัตราดอกเบี้ยให้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับครูและบุคลากรฯ ทั้งนี้ในส่วนของนักเรียนก็ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำหลักสูตรเรื่องการจัดการการเงิน สำหรับนักเรียนชั้น ม.ต้น และ ม.ปลายซึ่งก็มีนักเรียนสนใจจำนวนไม่น้อ”นางเกศทิพย์