เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาที่ผ่านมาสถานศึกษาส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการสถานศึกษา โดยกันเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับค่าจัดการเรียนการสอนเพื่อชำระค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและผู้เรียนสามารถเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สถานศึกษามีค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา อาทิ การติดตั้งกล้องวงจรปิด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม (All for Education) ในการหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยพิจารณาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาผ่านกลไกและมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา รวมถึงเพิ่มศักยภาพความพร้อมในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กรมสรรพากร ภาคเอกชน และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษา ผ่านกลไกและมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ที่เหมาะสมร่วมกัน โดยพบว่า ค่าไฟฟ้าเป็นภาระค่าใช้จ่ายของสถานศึกษาทุกขนาดและจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางลดภาระ เพราะการลดภาระค่าใช้จ่ายของสถานศึกษาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ จากการประชุมหารือสามารถสรุปเป็นข้อเสนอเบื้องต้น ดังนี้
1.การลดค่าไฟฟ้า โดยการแยกหมวดค่าไฟฟ้าฐานสำหรับการศึกษาเป็นการเฉพาะ การสนับสนุนโดยแยกค่าไฟฟ้าออกจากเงินอุดหนุนรายหัว การเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า และมิเตอร์ที่ไม่เหมาะสมกับปริมาณการใช้ไฟ นอกจากนั้นสถานศึกษาอาจใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการติดตั้งโซล่าเซลล์ รวมถึงการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงาน เพื่อได้รับคำแนะนำในการใช้พลังงานในสถานศึกษา ซึ่งในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะหารือร่วมกับฝ่ายนโยบายของกระทรวงพลังงานอีกครั้งและยื่นข้อเสนอแยกหมวดค่าไฟฟ้าฐานสำหรับการศึกษา เพื่อผลักดันไปสู่การพิจารณาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อไป
2.การเพิ่มโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยผลักดันให้ขยายกลุ่มเป้าหมายจากที่เน้นให้ไปยังสถานศึกษามากขึ้น เพื่อที่ได้รับการสนับสนุนเครือข่ายสัญญาณ หรือคอมพิวเตอร์ภายใต้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation หรือ USO)
3.การส่งเสริมมาตรการจูงใจในการเพิ่มการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านมาตรการทางภาษี เช่น การจัดทำกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมในกรณีการสนับสนุนการติดตั้งโซล่าเซลล์ หรือ กล้องวงจรปิด (CCTV) สำหรับสถานศึกษา รวมทั้งการส่งเสริมให้สถานศึกษาเข้าร่วมระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation)ของกรมสรรพากร เพื่อเพิ่มช่องทางและดึงดูดภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ เอกชน สมาคม ผู้ปกครอง รวมทั้งภาคประชาสังคมร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อให้รับทราบในวงกว้างมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลและข้อเสนอที่ได้รับจากการประชุม สกศ.จะดำเนินการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมและหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และผลักดันให้เกิดเป็น “ข้อเสนอแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา” ที่เหมาะสม และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป