วันที่ 25 เมษายน 2567 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ตนได้นำทีมงานลงพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เพื่อจัดทำข้อมูลสารสนเทศดิจิทัลทางการศึกษา เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นายโชคดี ศรัทธาการ ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดสุราษฎร์ธานีและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด
รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประชากรไทยอย่างมีคุณภาพ ด้วยการใช้ข้อมูลด้านการศึกษาสำหรับสนับสนุนการจัดทำตัวชี้วัดทางการศึกษาของประเทศไทยและเปรียบเทียบกับนานาชาติ โดยได้รับความร่วมมือและต้นแบบในการประเมินคุณภาพข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ OECD และ UIS เป็นผู้รับรองผล ทั้งนี้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่จัดการศึกษามุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเป็นคนดี มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม และมีสมรรถนะที่จำเป็นรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตในปีงบประมาณ พ.ศ.2565-2567 มีผลการประเมินคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับพอใช้ดังนั้นหน่วยงานจัดการศึกษาระดับพื้นที่จึงร่วมมือกับหน่วยงานกลางในการทบทวนและวิเคราะห์สาเหตุ/ปัจจัยที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อน โดยศึกษาจากจังหวัดที่มีบริบทคล้ายคลึงกัน มาเป็นต้นแบบในการพัฒนา และสำหรับตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งให้มีการศึกษาแนวทางการปฏิบัติที่ดีของจังหวัดที่อยู่ในระดับดีและดีมากเพื่อการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
“สกศ.กับผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงร่วมดำเนินการจัดทำร่างแผนขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทยปี 2568-2570 โดยให้ความเห็นว่า ข้อมูลระหว่างหน่วยงานควรมีการเชื่อมโยงกัน มีอัตรากำลังบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเพียงพอ มีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เช่น เครื่องบริการหรือเครื่องแม่ข่าย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แต่ละพื้นที่ต้องออกแบบหลักสูตรทุกระดับชั้นให้เหมาะสมตามบริบทของจังหวัด
ด้านนายภานุพงศ์ พนมวัน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ความคิดเห็นในวันนี้ สกศ.จะนำไปเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศไทย เพื่อเป้าหมายในการสร้างสภาพแวดล้อมขององค์กรที่มีประสิทธิภาพ และมีความน่าเชื่อถือด้วยกระบวนการทางสถิติที่ตรงตามมาตรฐาน UIS สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้ต่อไป