เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึง “โครงการ Anywhere Anytime เรียนดี มีความสุข” ว่า ในการศึกษา 2567 กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้รับจัดสรรงบประมาณมาจำนวนหนึ่ง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ 3 เรื่องคือ 1 National Digital Learning Platform (NDLP)ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการในเรื่องของการจัดการเรียนรู้แห่งชาติ ที่อิงหลักสูตรแกนกลาง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 2 เรื่องของคอนเท้นต์ต่าง ๆ ซึ่งเป้าหมายหลักคือการจัดให้มีคอนเท้นต์ที่มีองค์ความรู้ที่ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนในโลกยุคใหม่และ 3 ระบบคลาวด์ให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เป็นระบบแบบจีทูจี หรือ รัฐต่อรัฐ โดยทั้ง 3 เรื่องนี้จะต้องตอบโจทย์ “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำทีโออาร์
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นโครงการที่ สพฐ.รับผิดชอบเนื่องจาก นโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เชื่อมโยงมาที่ สพฐ.ในเรื่องของโครงการ Anywhere Anytime ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ โดยในปี 2567 สพฐ.ได้ขอตั้งงบประมาณไป 900 กว่าล้านบาท แต่ถูกตัดได้มา 482 ล้านบาท ซึ่งอาจเกิดจากระยะเวลาเหลือเพียง 5-6 เดือนก็จะสิ้นปีงบประมาณ อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาที่เหลืออยู่ สพฐ.ก็จะมาดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1 ระบบ NDLP ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้แห่งชาติ ที่อิงหลักสูตรแกนกลาง 2551 ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตั้งแต่ ป.1 ถึง ม. 6 ซึ่งจะต้องมาทำแพลตฟอร์ม คอนเท้นต์ ระบบคลาวด์ โดยเฉพาะเรื่องของคอนเทนต์สพฐ. ได้รวบรวม มากกว่า 2 แสนคอนเทนต์ ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้แบบเก่า ดังนั้นจึงมอบให้ สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน(สทร.) สพฐ.แต่งตั้งคณะกรรมการคัดกรองอีกครั้ง เพื่อให้ได้สื่อที่มีคุณภาพนำร่องไปก่อน ส่วนงบประมาณที่ได้มาก็จะทำคอนเทนต์ที่เป็นองค์ความรู้ยุคใหม่ ตามความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการ จ้างที่ปรึกษาที่มีคนสอบถามกันมามาก ว่าทำไมต้องจ้างที่ปรึกษา เราต้องยอมรับว่าความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่ละคนไม่เหมือนกัน สพฐ.ในฐานะที่ดูแลโครงการ Anywhere Anytime เราไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้มากนัก สู้คนที่จบมาโดยตรงหรือเฉพาะทางไม่ได้ เช่น ทำไมถึงจ้างที่ปรึกษาที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือ ทำไมต้อง MOU อยู่กับบางมหาวิทยาลัย ก็เพราะว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านวิศวะหรือด้านเทคโนโลยี ซึ่งเรามีความจำเป็นจะต้องใช้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาช่วย หรือ ช่วยงานเฉพาะกิจด้านอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนเกมเป็นกีฬา มหาวิทยาลัยไหนโด่งดัง สามารถสร้างคนเก่งด้านนี้ได้ ก็จะจ้างมาให้ทำหลักสูตร วิจัย และทำคอนเทนต์ เป็นต้น ส่วนเรื่องของระบบคลาวด์ ปีนี้ นโยบายของรัฐบาลไม่อยากให้หน่วยงานราชการแบกรับภาระเรื่องงบประมาณการจัดทำระบบคลาวด์ หรือการเช่าซื้อ จึงมีหนังสือสั่งการให้ใช้ระบบคลาวด์ เป็นระบบจีทูจี หรือคลาวด์เฟิร์ส จึงมอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ED)รับผิดชอบ เพราะกระทรวง ED ให้บริการในเรื่องนี้อยู่แล้ว