เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เด็กทุกคนได้รับโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา นั้น ตนได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด (ผอ.สกร.จังหวัด) ทั่วประเทศ ไปหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) และ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ผอ.สพม.) ที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ และถ้าเป็นไปได้ให้ทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการดูแลแก้ไขปัญหาเด็กวัยเรียนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา(เด็กตกหล่น) และเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาแต่ออกจากระบบกลางคัน ที่ไม่สามารถเรียนในระบบได้จริงๆให้มาลงทะเบียนเรียนรู้กับ สกร. ซึ่งเรื่องเด็กตกหล่น เด็กออกกลางคันนี้มีทุกปี เป็นปัญหาสำคัญ และเป็นหน้าที่ที่ผู้บริหาร สกร.จังหวัด และ สกร.อำเภอ ต้องร่วมกันขับเคลื่อน หามาตรการค้นหา และช้อนเด็กกลุ่มนี้ให้กลับเข้ามาเรียนรู้กับ สกร.
“ การที่เด็กตกหล่น ออกกลางคัน มาจากระบบโรงเรียน ก็มีเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ข้อจำกัดทางด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล กลายเป็นผู้ที่ด้อยโอกาสไม่ได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคกัน การศึกษานอกโรงเรียน ของ สกร.จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเด็กไทย ในการที่จะได้รับโอกาสทางการศึกษา ซึ่งในปีการศึกษา 2567 นี้ หลังจากสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการรับนักเรียน ค้นหาเด็กตกหล่น และเด็กที่ออกจากระบบกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาภายในเปิดภาคเรียนใหม่เดือนพฤษภาคม 2567 นี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าจะยังคงมีเด็กส่วนหนึ่งที่ถึงแม้โรงเรียนตามตัวพบก็ไม่กลับเข้าเรียนในระบบ ซึ่ง สกร.มีครูประจำตำบลอยู่ทุกตำบลก็จะทราบว่าเด็กคนไหนไม่ไปเรียน หากเด็กมีอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์แล้วก็จะติดตามให้มาลงทะเบียนเรียนกับ สกร.ได้เลย แต่ถ้าอายุยังไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 การลงทะเบียนเรียนกับ สกร.ต้องมีหนังสือส่งตัวจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มาด้วย ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าว
นายธนากร กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่น ออกกลางคัน ร่วมกัน หากโรงเรียน พบว่า เด็กไม่ไปโรงเรียนเป็นเวลานาน เช่น ไม่ไปเรียนในชั้น ม.2 อายุ ยังไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ ก็ให้แจ้งรายชื่อเด็กที่ไม่มาเรียนให้เขตพื้นที่ฯ และขอให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯจำหน่ายชื่อเด็กออกจากโรงเรียนเดิมโดยไม่ต้องรอให้อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ก่อน พร้อมกันนี้ให้ทำหนังสือส่งตัวเด็กมาลงทะเบียนเรียนกับ สกร. เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ซึ่ง สกร.มีวิธีจัดการเรียนรู้ มีหลักสูตรที่หลากหลาย เช่น หลักสูตรเพื่อการพัฒนาอาชีพ หลักสูตรเพื่อการพัฒนาทักษะชีวิต ตลอดจนกิจกรรม หรือโครงการต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายนอกระบบโรงเรียนได้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ไม่ได้กำหนดอายุผู้เรียนไว้ สกร.สามารถเข้าไปจัดการเรียนรู้ให้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนเสียชีวิต แต่ขณะนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่แล้วเสร็จ การรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มาลงทะเบียนเรียนกับ สกร.ในขณะนี้จึงต้องมีหนังสือส่งตัวจาก ผอ.เขตพื้นที่ฯเป็นเอกสารประกอบการรับเข้าเรียน.