เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด และ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาระบบปกติและระบบทวิภาคีเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ให้มีความพร้อมเมื่อจบการศึกษา มีทักษะฝีมือตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบริษัททั้ง 3 แห่ง ได้ดำเนินความร่วมมือกับ สอศ. แล้ว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นโยบายของตน คือ “เรียนดี มีความสุข” การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต “มีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) จบแล้วมีงานทำ 100%” โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง Active Learning สอดคล้องการผลิตพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง พร้อมเป็นกำลังคนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และ ความร่วมมือในวันนี้เป็นยกระดับความร่วมมือให้มีความเข้มแข็งอย่างเข้มข้นและตรงตามเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมด้านการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอาชีวศึกษา มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริง ด้วยเทคโนโลยี ครุภัณฑ์ที่ทันสมัย เช่น เทคโนโลยี EV Hybrid เป็นต้น โดยมีบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในสายงานในสถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ และร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมีทักษะสมรรถนะสูงตามสายอาชีพ และตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
“ภายหลังจากการฝึกอาชีพและผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือ นักเรียน นักศึกษาจะได้รับความรู้ มีทักษะ ประสบการณ์ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สิ่งสำคัญ นักเรียน นักศึกษา จะได้ใบรับรอง (Certificate) ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือของบริษัท เพื่อเป็นใบเบิกทางในการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังคน สู่การเป็นพลโลกที่ทันสมัย ด้วยการดำเนินงานตามหลักแนวคิดการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” และนำพาให้การจัดการอาชีวศึกษาบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ในอนาคต และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวต่อไปสู่ความยั่งยืน”พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าว
ด้าน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาระบบปกติและระบบทวิภาคี ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Vocational Education – DVE) เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ หรือหน่วยงาน รวมถึงการร่วมกันจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกัน มีการวัดและการประเมินผล และเน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะวิชาชีพ เพื่อสร้างเสริมความชำนาญในสายอาชีพ โดยมีนักเรียน นักศึกษาในสาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเทคนิคยานยนต์ สาขาวิชาช่างยนต์ และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสในการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริง รวมถึง Re-skill Up-skill และ New-skill ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะขีดความสามารถในสาขาวิชาชีพเพิ่มขึ้น ความร่วมมือร่วมกับสถานประกอบการหรือหน่วยงาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อผู้เรียนอาชีวศึกษาที่มีชำนาญในสายอาชีพ จบแล้วสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้