วันที่ 3 เมษายน 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าและการพนันออนไลน์ในสถานศึกษา ซึ่งพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสวัสดิภาพของนักเรียน รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้เน้นย้ำและกำกับสถานศึกษามาโดยตลอดว่าจะต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยจากสารเสพติดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สารเสพติด รวมถึงสารอื่นที่ทำให้มึนเมา รวมถึงปัญหาการเล่นพนันออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชน และมีการแพร่ระบาด เข้าถึงได้ง่ายทุกช่วงวัยในวงกว้าง
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขับเคลื่อนการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าและการพนันออนไลน์ในสถานศึกษาอย่างจริงจัง โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า กรณีพบผู้ครอบครอง หรือเสพ หรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 เพื่อกำหนดแนวทางการบูรณาการการเรียนการสอนรู้เท่าทันพิษภัย และการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ให้สอดรับกับระดับการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละช่วงวัย เพื่อสร้างค่านิยมคนรุ่นใหม่ ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงประมวลองค์ความรู้โทษจากภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า นำมาจัดทำโครงการและกิจกรรมในสถานศึกษา เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและทางการแพทย์ ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ได้รับรู้รับทราบ รวมถึงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเล่นการพนันออนไลน์ในสถานศึกษา โดยเน้นย้ำตามหลัก 3 ป (ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม) เพื่อให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเล่นการพนันออนไลน์ ปลูกฝังคุณลักษณะการต่อต้านการเล่นการพนันออนไลน์ และปราบปรามไม่ให้มีการเล่นการพนันออนไลน์ในนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ได้ผลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และขอรับคำปรึกษาจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เมื่อพบว่านักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา เสพติดการเล่นพนันออนไลน์ เพื่อส่งตัวเข้ารับการบำบัดรักษาต่อไป พร้อมทั้งมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ให้การสนับสนุนและบูรณาการการทำงานให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน
“สพฐ. มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากผลสำรวจเมื่อปี 2565 พบว่ามีเด็กและเยาวชน อายุ 13-15 ปีมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.3 เท่า สพฐ. จึงอยากให้เด็กและเยาวชนมีโอกาส มีทางเลือก ให้พวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนแล้วจึงตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง เราจึงทำการสื่อสาร ทำความเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยมีการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อวางแนวทางและแผนป้องกัน พร้อมมีข้อสั่งการในเรื่องของการตรวจอาวุธและสิ่งผิดกฎหมายในสถานศึกษา ซึ่งในตอนนี้บุหรี่ไฟฟ้าถือว่ายังเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ สพฐ. จึงต้องการสื่อสารไปยังทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ในชุมชน ที่ทำหน้าที่ดูแลเด็ก และต้องเติมองค์ความรู้ให้กับเด็ก ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เด็กๆ ได้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็ต้องมีการจัดทำแผนแนวทางดูแลพื้นที่ภายในโรงเรียนของตัวเองให้ละเอียด ไม่ให้มีมุมอับหรือจุดเสี่ยง และเติมองค์ความรู้ให้ครูในเรื่องของสิ่งเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายประเภทต่างๆ นอกจากนั้น ด้วยมติ ครม. ที่อนุมัติงบจ้างนักการภารโรงครบทุกโรงเรียน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 เมื่อมีนักการภารโรงเข้ามาก็จะมาช่วยดูแลความปลอดภัยในโรงเรียน เพิ่มเติมได้อีกทางหนึ่ง โดยต้องปรับให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน ทั้งนี้ สำหรับการเปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2567 ก็จะมีมาตรการที่เข้มขึ้น โดยจะเชิญประชุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก่อนเปิดเทอม เพื่อเตรียมการดูแลความปลอดภัยในส่วนนี้ด้วย”นายธีร์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้กำชับและเน้นย้ำโรงเรียนในสังกัดให้ดำเนินการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าและการพนันออนไลน์ในสถานศึกษา โดยตรวจตราสิ่งผิดกฎหมายในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด และบูรณาการการทำงานร่วมกับชุมชน หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ในการเฝ้าระวังบริเวณโดยรอบสถานศึกษาหรือเฝ้าระวังบุคคลที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ในลักษณะการทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้นสังกัดทราบเป็นประจำทุกสัปดาห์ และทางเขตพื้นที่ฯ จะรายงานมายัง สพฐ. ได้รับทราบต่อไป ทั้งหมดนี้เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดกับนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ได้มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม