เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเป็นยุค”BANI World”ทั่วทั้งโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption)ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมกำลังคนรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อมและมีความฉลาดทางดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะสำคัญจำเป็นในการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ให้อยู่รอดปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมยุคดิจิทัลตอนนี้ ซึ่งสอดรับกับนายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยภายใต้แนวคิด “IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง มุ่งพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ให้เป็นพลเมืองไทยที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนรุ่นใหม่” ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนกลุ่มคนวัยสูงอายุ ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) อยู่ในขณะนี้ ยิ่งเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการศึกษาจำเป็นต้องมีนโยบาย แนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาที่เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง มุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน กอปรกับ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 ภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข” มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาด้านการศึกษาครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นตามบริบทของประเทศและสังคมโลก ยึดหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมาขับเคลื่อนการดำเนินงานในลักษณะ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ทั้งด้านการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งจะครอบคลุมประเด็นการพัฒนาระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เน้นให้ผู้เรียนสามารถ “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา(Anywhere Anytime)” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถต่อยอดองค์ความรู้สู่การสร้างรายได้และการประกอบอาชีพ
“การขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาในเรื่องดังกล่าว สอดคล้องเชื่อมโยงกับการดำเนินงานตามบทบาทภารกิจของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนในมิติของ “ความฉลาดทางดิจิทัล” ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญจำเป็นของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิตในโลกยุคใหมได้อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัยจาก ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนตามกรอบมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 ด้านผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Co-creator)โดยสำนักงานฯ ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาผู้เรียนในมิติดังกล่าวผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมครูอาจารย์เพื่อพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่: การพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลของผู้เรียนทุกช่วงวัย เพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาครูในการพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัลของผู้เรียน และเปิดโอกาสให้ครูได้ร่วมกิจกรรมต้นแบบที่จะเป็นตัวอย่างการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของครู และครูยังสามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความฉลาดทาง ดิจิทัลแก่ผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม จากการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้ได้แนวทางการพัฒนาเครือข่าย ในอนาคตด้วย” ดร.อรรถพล กล่าวและว่า ความร่วมมือในการพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัลที่เหมาะสมสำหรับบริบทของ ประเทศไทย และข้อค้นพบสำคัญในการพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลของผู้เรียน ตลอดจนเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาคการศึกษา ภาคสื่อ และผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (TMF) ผู้แทนจากสถานประกอบการ บริษัทเอกชน ที่ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลของผู้เรียน ตลอดจนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของครูและแนวทางการต่อยอดเครือข่ายร่วมพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้ได้ร่วมกับ I AM KRU. สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมต้นแบบ การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลของผู้เรียนทุกช่วงวัย หัวข้อ “ครู SMART ฉลาดใช้ DIGITAL”มุ่งเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับและประเภทการศึกษา ได้เข้า มาร่วมพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัล ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูด้วยกัน ก่อให้เกิดเป็นเครือข่าย ความร่วมมือในภาคการศึกษาต่อไป ทั้งนี้แนวคิดหลักในการจัดกิจกรรม คือ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning) และ “การเรียนรู้ด้วยประสบการณ์” สอดคล้องตามกรอบความฉลาดทางดิจิทัล (DQ Digital Intelligence Framework) 3 ระดับ 8 ด้านหลัก ครอบคลุมการพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (DQ)ควบคู่ไปกับความฉลาดทางปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ที่จะช่วยส่งเสริมให้ครูเกิดทักษะความฉลาดทางดิจิทัล มีความเข้าใจ มีภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สามารถจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลแก่ผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม
“สิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง คือ “การพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัลให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล” ที่มีคุณสมบัติพร้อมทั้งด้านความฉลาดทางดิจิทัล ความรู้ ความสามารถ และความฉลาดทางอารมณ์ ในขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนต้องตระหนักและเห็นความสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลโดยบูรณาการประสานความร่วมมือเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายเดียวกันคือ “การพัฒนาประชากรในประเทศให้มีความฉลาดทางดิจิทัล” สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาที่ตัวบุคคลแล้ว ยังก่อให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาที่กว้างและครอบคลุม กลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้นด้วย หากทุกภาคส่วนสามารถบูรณาการความร่วมมือได้อย่างแท้จริงทั้งด้านความรู้ ความสามารถ แนวความคิด กระบวนการทำงาน ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็ย่อมส่งผลให้เกิดการสนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในมิติต่าง ๆ แก่ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงกลุ่มผู้บริหาร ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาแลลกำหนดแนวทางการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่สามารถใช้ดิจิทัลได้อย่างรู้เท่าทัน เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต ตลอดจนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ขยายผลต่อยอดการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางด้านดิจิทัลในมิติอื่นต่อไป