เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ครูผู้ตรวจประจำศูนย์ตรวจ ครูผู้ตรวจผ่านระบบออนไลน์ และคณะทำงานประจำศูนย์ตรวจข้อสอบอัตนัย O-NET วิชาภาษาไทย ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดนนทบุรี โดยมี ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) (องค์การมหาชน) วิทยากร ครูผู้ตรวจประจำศูนย์ตรวจ ครูผู้ตรวจผ่านระบบออนไลน์ และคณะทำงานประจำศูนย์ตรวจ ร่วมให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานการตรวจข้อสอบอัตนัย การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ( O-NET ) วิชาภาษาไทย ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 ในวันนี้ จากคำกล่าวรายงานจะเห็นได้ว่า สทศ. มีการพัฒนาการสอบ O-NET วิชาภาษาไทยด้วยรูปแบบข้อสอบอัตนัยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการพัฒนาวิธีการตรวจ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการดำเนินการตรวจข้อสอบอัตนัย สอดคล้องกับนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ​ รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมีการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ซึ่งจะเห็นได้จาก สทศ. ได้มีความร่วมมือกับสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการพัฒนาหลักสูตรการอบรมครูผู้ตรวจข้อสอบอัตนัย การจัดทำเกณฑ์การตรวจและการเป็นศูนย์ตรวจข้อสอบอัตนัย โดยความร่วมมือกับครูในการตรวจข้อสอบอัตนัยในครั้งนี้ได้กำหนดระยะเวลาการตรวจระหว่างวันที่ 7-16 มีนาคม 2567

“สำหรับปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้ารับการทดสอบ 658,932 คน คิดเป็นจำนวนกระดาษคำตอบที่ต้องดำเนินการตรวจ 2,635,728 แผ่น มีครูผู้ตรวจ 908 คน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนเข้ารับการทดสอบ 409,777 คน คิดเป็นจำนวนกระดาษคำตอบที่ต้องดำเนินการตรวจ 819,554 แผ่น มีครูผู้ตรวจ 832 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในการเป็นศูนย์ตรวจ นอกจากนี้ สทศ. ได้มีการนำร่องศึกษาและวิจัยการตรวจกระดาษคำตอบผ่านระบบออนไลน์ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 172 คน ส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตรวจด้วยระบบออนไลน์ 100%  โดย สทศ. จะประกาศผลการทดสอบ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในวันที่ 27 มีนาคม 2567 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในวันที่ 28 มีนาคม 2567 ซึ่งผลทดสอบจะใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน วางแผนการจัดการเรียนการสอนของครู และผู้บริหารระดับสูงได้นำผลไปกำหนดนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป” รมช.สุรศักดิ์ กล่าว

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สทศ. มีการนำระบบการตรวจแบบออนไลน์ มาใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งสามารถดำเนินการตรวจได้ทั้งในศูนย์ตรวจและที่พักอาศัยของผู้ตรวจ สอดคล้องกับนโยบาย “Anywhere Anytime”การสอบด้วยข้อสอบอัตนัย ส่งผลให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ การสรุปใจความสำคัญ การเชื่อมโยงความคิด และการสื่อสารของตนเอง รวมถึงการแสดงความคิดเห็นและการโต้แย้งอย่างมีเหตุผลได้ดีขึ้นถือเป็นการพัฒนาสมรรถนะด้านการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดีในการตรวจข้อสอบอัตนัยครั้งนี้ รู้สึกได้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนานวัตกรรม ด้านการทดสอบทางการศึกษาของ สทศ. รวมถึง ครู อาจารย์ และคณะทํางานทุกท่าน ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาทางการศึกษา ตนขอขอบคุณในความทุ่มเทเสียสละและขอเป็นกําลังใจให้กับครูทุกท่าน ทั้งยังขอให้การตรวจข้อสอบอัตนัยในครั้งนี้ประสบผลสําเร็จตามวัตถุประสงค์

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments